ฟรีแลนซ์และวัยหนุ่มที่ผ่านพ้น

ไปดูหนังเรื่อง Freelance ที่เชียงใหม่มาสัปดาห์ก่อน เลยพลันระลึกถึงวัยหนุ่มที่ผ่านพ้น ในช่วงชีวิตหนึ่งเราต่างก็คงมีการใช้พลังชีวิตไปอย่างไม่คุ้มค่า แม้จะคิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่ได้พบ

หลายคนให้ข้อสรุปว่า งั้นเราก็ควรแบ่งเวลาในชีวิตให้เหมาะสม แบ่งเวลาทำงาน และแบ่งเวลาพัก

แต่สำหรับคนประเภททุ่มเทเพื่อความสมบูรณ์แบบ คงไม่ค่อยชอบคำปลอบประโลมแนวนี้นัก ผมเองก็เช่นกัน ผ่านเวลามาสิบกว่าปี ความคิดหลายอย่างเริ่มตกตะกอนไปพอควร หากให้สั่งสอนตัวเองในอดีต, หรือพระเอกในหนังที่เป็นฟรีแลนซ์, ก็อยากลองบันทึกฮาวทูที่คลิเช่ไว้ ดังนี้

1. ชัดเจนกับเป้าหมายชีวิต

ในแต่ละช่วงของชีวิต เราควรจะจินตนาการตัวเองในอนาคตอีก 5 ปี 10 ปี ได้ ว่ากำลังทำอะไร อยู่ยังไง เป็นคนแบบไหน ฯลฯ เพราะมันจะทำให้เราไม่ติดกับดักของโอกาส และดึงดูดเฉพาะโอกาสที่เหมาะสมกับเป้าหมายชีวิตของเรา

เราจะพบว่างานบางงาน เราไม่ควรจะรับ และงานบางงาน ไม่ต้องรอให้เข้ามา ต้องดิ้นรนไปหาเอง

และยิ่งหากชัดเจนกับเป้าหมาย เราจะยิ่งไม่ต้องเกรงใจกับเครือข่ายผลประโยชน์รอบด้าน เพราะเค้าจะรู้จนได้ว่า เค้าจ้างเราทำบางอย่างไม่ได้ (เพราะไม่ตรงกับเป้าหมายเรา) และคนที่สนใจเหมือนเรา จะมาจ้างเราทำงาน

ยิ่งถ้าเป้าหมายเรา ไปไกลกว่าการได้รางวัล ออกสื่อ ได้คำยกย่องเยินยอ – เราจะยิ่งพบว่าเราไม่จำเป็นต้องเสียพลังงานไปกับเรื่องไร้สาระจำนวนมาก

2. อยากยิ่งใหญ่และมั่งคั่ง เราต้องสามารถ “แก้ปัญหาที่ยาก” ให้ “คนจำนวนมาก” ได้

ปัจจุบันแทบเป็นความรู้มาตรฐานของวงการสตาร์ทอัพแล้ว คือต้องถามตัวเองเสมอว่า “เรากำลังแก้ปัญหาอะไรอยู่” และ “ขนาดของปัญหา มันใหญ่จริงหรือเปล่า?”

หากเราไม่ได้กำลังแก้ปัญหาที่ยากจริงๆ (เช่น ทำในสิ่งที่ฟรีแลนซ์คนอื่นๆ ก็ทำได้เหมือนกัน) หรือถ้าเราไม่ได้แก้ปัญหาให้คนจำนวนมาก (เช่น รับงานจากเอเจนซี่รายใหญ่รายเดียว, ทำงานตอบโจทย์ครีเอทีฟไม่กี่คน ฯลฯ) เราจะเป็นแค่แรงงานทั่วไปที่คนเบื่องานชอบกล่าวกันว่า “หากเราตายไป บริษัทก็หาคนอื่นมาแทนเราได้”

3. อย่าฝากชีวิตไว้กับลูกค้าไม่กี่ราย

ตอนทำธุรกิจช่วงแรกๆ ลูกค้าสำคัญบางคน อาจจะกุมชะตาทั้งบริษัท ซึ่งนั่นทำให้อำนาจต่อรองของเราลดลง เราจะพบภาวะ “ปฏิเสธงานไม่ได้” และทำให้ได้รับแต่งานด่วนๆ เงินน้อยๆ และไม่ได้สร้างงานที่โดดเด่น ซึ่งก็ยิ่งทำให้เราหางานจากที่อื่นได้ยากขึ้นไปอีก

เคยอ่านหนังสือธุรกิจบางเล่ม ถึงกับกล่าวว่า อย่าให้มีลูกค้ารายใดสร้างรายได้ให้คุณเกิน 50% ของรายได้ทั้งหมด

การมีลูกค้าจำนวนมาก จะยิ่งทำให้เราเห็น “ค่าเฉลี่ย” ของความพอใจต่อราคาที่จ้าง ทำให้เราประเมินความสามารถตัวเองกับตลาดได้ว่า จริงๆ เราคิดถูกหรือแพงไป และทำให้ยิ่งต้องพัฒนาตัวเองให้ทันโลก หรือสามารถตัดสินใจไม่รับงานที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากๆ ได้ โดยไม่ต้องบ่นว่าเค้ากดราคา เพราะเค้าแค่ไม่ใช่ลูกค้าของเราเท่านั้นเอง

ถ้าเรามีลูกค้ารายเดียว เราจะเป็นของตาย ลูกค้าจะรู้สึกว่าเค้าจ่ายแพงไป และเราจะรู้สึกว่าเราได้น้อยไป ตลอดเวลา

4. สร้างแบรนด์

จะแก้ปัญหาในข้อ 2-3 ได้ ก็ต้องสร้างแบรนด์ หากเราเป็นฟรีแลนซ์ที่มีคนรู้จักเราไม่กี่คน เราจะเจอภาวะที่รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต เพราะเราฝากชีวิตไว้กับคนไม่กี่คน แต่ถ้าเราสร้างแบรนด์ของเราให้มีคนรู้จักจำนวนมาก มีลูกค้าหลากหลายประเภท หากเราเสียงานบางงานไป เราก็ยังมีโอกาสได้งานอื่นๆ อีกมาก

การสร้างแบรนด์ปัจจุบันที่ควรทำที่สุดคือ ทำ Facebook Fanpage เพราะง่ายและฟรี ส่วนถ้าใครอยู่ในสายที่ต้องให้ความรู้เชิงลึก ก็ควรเขียนบล็อก เพื่อบอกคนอื่นว่าเราสนใจในเรื่องอะไร และทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้

เมื่อเราสื่อสารในประเด็นที่เราสนใจสม่ำเสมอ เราจะดึงดูดคนที่สนใจแนวทางเดียวกับเราเข้ามา

5. ทำงานในตอนที่มีพลังมากที่สุด

คนบ้างานทั้งหลายคงเคยผ่านช่วงเวลาของความภูมิใจที่ได้ทำงานหามรุ่งหามค่ำอดหลับอดนอน โดยไม่ได้คิดว่าประสิทธิภาพของงานต่อชั่วโมง จริงๆ แล้วต่ำขนาดไหน

ลืมคิดว่า ที่ทำต่อเนื่อง 10 วันไม่ได้นอนนั้น หากแบ่งเวลานอนแล้วมาทำเฉพาะช่วงพลังชีวิตสูงสุด จิตใจปลอดโปร่ง อาจจะใช้ไม่ถึง 10 วันก็ได้

และจริงๆ แล้วการทำงานนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมื่อเราอยู่หน้างาน ตอนที่เรากำลังอาบน้ำ กินข้าว เดินทาง ออกกำลังกาย เราสามารถ “วางแผน/จินตนาการ” ถึงตัวงานได้ ก็ยิ่งทำให้เมื่อเริ่มงาน สามารถทำงานได้เร็วขึ้น อยู่หน้าคอมน้อยลง รับคลื่นไฟฟ้าจากจอคอมน้อยลง เพื่อให้ชีวิตมีพลังที่จะทำงานได้มากขึ้น (ก็เป็นคนบ้างานนี่นะ :D)

อับราฮัม ลินคอล์น เคยกล่าวว่า “ถ้าข้าพเจ้ามีเวลา 6 ชั่วโมงในการตัดต้นไม้ จะเอา 4 ชั่วโมงไว้ ลับขวาน”

6. จับเวลาทำงาน และเวลาไม่ทำงาน

ยิ่งเราทำงานได้เก่งช่วงแปลงร่าง (คือ ทำด้วยความเร็วสูงสุดเพราะเดทไลน์) เรายิ่งคิดว่าเราใช้เวลาน้อยมากในการทำงานแต่ละงาน โดยลืมว่าจริงๆ เรายังต้องอาศัยเวลาไม่ทำงานมาชดเชยมันด้วย

เราอาจจะคิดว่า งานแบบนี้ใช้เวลาแค่ 10 วัน แต่ลืมคิดว่า ต้องแลกกับการป่วยทำงานต่อไม่ได้อีก 2 วัน หรืองานบางงานต้องเสียเวลามองหน้าต่าง 7 ชั่วโมง ถึงจะมีอารมณ์ทำงาน 1 ชั่วโมง (ซึ่งอาจจะได้ผลงานเท่าเด็กจบใหม่ที่ทำงานต่อเนื่อง 8 ชั่วโมง)

การจับเวลาทำงานในแต่ละวัน ต่อเนื่องยาวนาน จะทำให้เราเห็นตัวเลขของความสามารถจริงๆ ของเรา

ปีที่แล้วมีบรรยายเรื่องวิถีของฟรีแลนซ์ และการใช้โปรแกรมช่วยจับเวลานิดหน่อย ตามคลิปด้านล่างครับ (พื้นที่โฆษณา :D)

7. เป็นฟรีแลนซ์ของกันและกัน

หลังจากผ่านชีวิตที่เป็นพนักงานบริษัท, หุ้นส่วน, เจ้าของกิจการ ผมพบว่าการเป็นฟรีแลนซ์ทำให้เราเลือกคนทำงานด้วยได้อิสระมากทีเดียว เราไม่ต้องมีลูกน้อง ที่ต้องดูแลเหมือนลูกเหมือนน้อง ไม่ต้องมีลูกจ้าง ที่ทั้งขาดลามาสาย แต่เบิกเงินเต็ม ฯลฯ

เป็นฟรีแลนซ์ เราสามารถจ้างฟรีแลนซ์คนอื่นๆ มาช่วยงานเราได้ แม้ว่าเราก็ต้องเหนื่อยในการหาฟรีแลนซ์ที่รับผิดชอบอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าหาเจอ เราจะได้คนที่ “รักษามาตรฐาน”, “ทำงานให้เสร็จ แล้วค่อยมาเก็บเงิน” เหมือนๆ กัน

การมืเครือข่ายของฟรีแลนซ์ที่ไว้ใจได้ ทำให้เราสามารถรับงานได้สเกลใหญ่ขึ้น และช่วยลูกค้าแก้ปัญหาได้มากขึ้น ในขณะที่การ “กั๊กงานมาทำคนเดียว เพราะกลัวคนอื่นได้เครดิต” อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาให้ใครเลย ทั้งลูกค้าและเรา

ออกตัวว่า ข้อความเหล่านี้ เขียนไว้เพื่อสอนทั้งตัวเองในวัยหนุ่ม และตัวเองในวัยปัจจุบัน ยังมีเรื่องที่ทำได้ และทำพลาด อยู่เสมอๆ แต่การได้ทบทวนตัวเองว่าผ่านความคิดอะไรมาบ้าง ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่นเช่นกัน

หากฟรีแลนซ์ท่านอื่นมีประสบการณ์อะไร มาแชร์ได้นะครับ