ฟรีแลนซ์และวัยหนุ่มที่ผ่านพ้น

ไปดูหนังเรื่อง Freelance ที่เชียงใหม่มาสัปดาห์ก่อน เลยพลันระลึกถึงวัยหนุ่มที่ผ่านพ้น ในช่วงชีวิตหนึ่งเราต่างก็คงมีการใช้พลังชีวิตไปอย่างไม่คุ้มค่า แม้จะคิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่ได้พบ

หลายคนให้ข้อสรุปว่า งั้นเราก็ควรแบ่งเวลาในชีวิตให้เหมาะสม แบ่งเวลาทำงาน และแบ่งเวลาพัก

แต่สำหรับคนประเภททุ่มเทเพื่อความสมบูรณ์แบบ คงไม่ค่อยชอบคำปลอบประโลมแนวนี้นัก ผมเองก็เช่นกัน ผ่านเวลามาสิบกว่าปี ความคิดหลายอย่างเริ่มตกตะกอนไปพอควร หากให้สั่งสอนตัวเองในอดีต, หรือพระเอกในหนังที่เป็นฟรีแลนซ์, ก็อยากลองบันทึกฮาวทูที่คลิเช่ไว้ ดังนี้

1. ชัดเจนกับเป้าหมายชีวิต

ในแต่ละช่วงของชีวิต เราควรจะจินตนาการตัวเองในอนาคตอีก 5 ปี 10 ปี ได้ ว่ากำลังทำอะไร อยู่ยังไง เป็นคนแบบไหน ฯลฯ เพราะมันจะทำให้เราไม่ติดกับดักของโอกาส และดึงดูดเฉพาะโอกาสที่เหมาะสมกับเป้าหมายชีวิตของเรา

เราจะพบว่างานบางงาน เราไม่ควรจะรับ และงานบางงาน ไม่ต้องรอให้เข้ามา ต้องดิ้นรนไปหาเอง

และยิ่งหากชัดเจนกับเป้าหมาย เราจะยิ่งไม่ต้องเกรงใจกับเครือข่ายผลประโยชน์รอบด้าน เพราะเค้าจะรู้จนได้ว่า เค้าจ้างเราทำบางอย่างไม่ได้ (เพราะไม่ตรงกับเป้าหมายเรา) และคนที่สนใจเหมือนเรา จะมาจ้างเราทำงาน

ยิ่งถ้าเป้าหมายเรา ไปไกลกว่าการได้รางวัล ออกสื่อ ได้คำยกย่องเยินยอ – เราจะยิ่งพบว่าเราไม่จำเป็นต้องเสียพลังงานไปกับเรื่องไร้สาระจำนวนมาก

2. อยากยิ่งใหญ่และมั่งคั่ง เราต้องสามารถ “แก้ปัญหาที่ยาก” ให้ “คนจำนวนมาก” ได้

ปัจจุบันแทบเป็นความรู้มาตรฐานของวงการสตาร์ทอัพแล้ว คือต้องถามตัวเองเสมอว่า “เรากำลังแก้ปัญหาอะไรอยู่” และ “ขนาดของปัญหา มันใหญ่จริงหรือเปล่า?”

หากเราไม่ได้กำลังแก้ปัญหาที่ยากจริงๆ (เช่น ทำในสิ่งที่ฟรีแลนซ์คนอื่นๆ ก็ทำได้เหมือนกัน) หรือถ้าเราไม่ได้แก้ปัญหาให้คนจำนวนมาก (เช่น รับงานจากเอเจนซี่รายใหญ่รายเดียว, ทำงานตอบโจทย์ครีเอทีฟไม่กี่คน ฯลฯ) เราจะเป็นแค่แรงงานทั่วไปที่คนเบื่องานชอบกล่าวกันว่า “หากเราตายไป บริษัทก็หาคนอื่นมาแทนเราได้”

3. อย่าฝากชีวิตไว้กับลูกค้าไม่กี่ราย

ตอนทำธุรกิจช่วงแรกๆ ลูกค้าสำคัญบางคน อาจจะกุมชะตาทั้งบริษัท ซึ่งนั่นทำให้อำนาจต่อรองของเราลดลง เราจะพบภาวะ “ปฏิเสธงานไม่ได้” และทำให้ได้รับแต่งานด่วนๆ เงินน้อยๆ และไม่ได้สร้างงานที่โดดเด่น ซึ่งก็ยิ่งทำให้เราหางานจากที่อื่นได้ยากขึ้นไปอีก

เคยอ่านหนังสือธุรกิจบางเล่ม ถึงกับกล่าวว่า อย่าให้มีลูกค้ารายใดสร้างรายได้ให้คุณเกิน 50% ของรายได้ทั้งหมด

การมีลูกค้าจำนวนมาก จะยิ่งทำให้เราเห็น “ค่าเฉลี่ย” ของความพอใจต่อราคาที่จ้าง ทำให้เราประเมินความสามารถตัวเองกับตลาดได้ว่า จริงๆ เราคิดถูกหรือแพงไป และทำให้ยิ่งต้องพัฒนาตัวเองให้ทันโลก หรือสามารถตัดสินใจไม่รับงานที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากๆ ได้ โดยไม่ต้องบ่นว่าเค้ากดราคา เพราะเค้าแค่ไม่ใช่ลูกค้าของเราเท่านั้นเอง

ถ้าเรามีลูกค้ารายเดียว เราจะเป็นของตาย ลูกค้าจะรู้สึกว่าเค้าจ่ายแพงไป และเราจะรู้สึกว่าเราได้น้อยไป ตลอดเวลา

4. สร้างแบรนด์

จะแก้ปัญหาในข้อ 2-3 ได้ ก็ต้องสร้างแบรนด์ หากเราเป็นฟรีแลนซ์ที่มีคนรู้จักเราไม่กี่คน เราจะเจอภาวะที่รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต เพราะเราฝากชีวิตไว้กับคนไม่กี่คน แต่ถ้าเราสร้างแบรนด์ของเราให้มีคนรู้จักจำนวนมาก มีลูกค้าหลากหลายประเภท หากเราเสียงานบางงานไป เราก็ยังมีโอกาสได้งานอื่นๆ อีกมาก

การสร้างแบรนด์ปัจจุบันที่ควรทำที่สุดคือ ทำ Facebook Fanpage เพราะง่ายและฟรี ส่วนถ้าใครอยู่ในสายที่ต้องให้ความรู้เชิงลึก ก็ควรเขียนบล็อก เพื่อบอกคนอื่นว่าเราสนใจในเรื่องอะไร และทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้

เมื่อเราสื่อสารในประเด็นที่เราสนใจสม่ำเสมอ เราจะดึงดูดคนที่สนใจแนวทางเดียวกับเราเข้ามา

5. ทำงานในตอนที่มีพลังมากที่สุด

คนบ้างานทั้งหลายคงเคยผ่านช่วงเวลาของความภูมิใจที่ได้ทำงานหามรุ่งหามค่ำอดหลับอดนอน โดยไม่ได้คิดว่าประสิทธิภาพของงานต่อชั่วโมง จริงๆ แล้วต่ำขนาดไหน

ลืมคิดว่า ที่ทำต่อเนื่อง 10 วันไม่ได้นอนนั้น หากแบ่งเวลานอนแล้วมาทำเฉพาะช่วงพลังชีวิตสูงสุด จิตใจปลอดโปร่ง อาจจะใช้ไม่ถึง 10 วันก็ได้

และจริงๆ แล้วการทำงานนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมื่อเราอยู่หน้างาน ตอนที่เรากำลังอาบน้ำ กินข้าว เดินทาง ออกกำลังกาย เราสามารถ “วางแผน/จินตนาการ” ถึงตัวงานได้ ก็ยิ่งทำให้เมื่อเริ่มงาน สามารถทำงานได้เร็วขึ้น อยู่หน้าคอมน้อยลง รับคลื่นไฟฟ้าจากจอคอมน้อยลง เพื่อให้ชีวิตมีพลังที่จะทำงานได้มากขึ้น (ก็เป็นคนบ้างานนี่นะ :D)

อับราฮัม ลินคอล์น เคยกล่าวว่า “ถ้าข้าพเจ้ามีเวลา 6 ชั่วโมงในการตัดต้นไม้ จะเอา 4 ชั่วโมงไว้ ลับขวาน”

6. จับเวลาทำงาน และเวลาไม่ทำงาน

ยิ่งเราทำงานได้เก่งช่วงแปลงร่าง (คือ ทำด้วยความเร็วสูงสุดเพราะเดทไลน์) เรายิ่งคิดว่าเราใช้เวลาน้อยมากในการทำงานแต่ละงาน โดยลืมว่าจริงๆ เรายังต้องอาศัยเวลาไม่ทำงานมาชดเชยมันด้วย

เราอาจจะคิดว่า งานแบบนี้ใช้เวลาแค่ 10 วัน แต่ลืมคิดว่า ต้องแลกกับการป่วยทำงานต่อไม่ได้อีก 2 วัน หรืองานบางงานต้องเสียเวลามองหน้าต่าง 7 ชั่วโมง ถึงจะมีอารมณ์ทำงาน 1 ชั่วโมง (ซึ่งอาจจะได้ผลงานเท่าเด็กจบใหม่ที่ทำงานต่อเนื่อง 8 ชั่วโมง)

การจับเวลาทำงานในแต่ละวัน ต่อเนื่องยาวนาน จะทำให้เราเห็นตัวเลขของความสามารถจริงๆ ของเรา

ปีที่แล้วมีบรรยายเรื่องวิถีของฟรีแลนซ์ และการใช้โปรแกรมช่วยจับเวลานิดหน่อย ตามคลิปด้านล่างครับ (พื้นที่โฆษณา :D)

7. เป็นฟรีแลนซ์ของกันและกัน

หลังจากผ่านชีวิตที่เป็นพนักงานบริษัท, หุ้นส่วน, เจ้าของกิจการ ผมพบว่าการเป็นฟรีแลนซ์ทำให้เราเลือกคนทำงานด้วยได้อิสระมากทีเดียว เราไม่ต้องมีลูกน้อง ที่ต้องดูแลเหมือนลูกเหมือนน้อง ไม่ต้องมีลูกจ้าง ที่ทั้งขาดลามาสาย แต่เบิกเงินเต็ม ฯลฯ

เป็นฟรีแลนซ์ เราสามารถจ้างฟรีแลนซ์คนอื่นๆ มาช่วยงานเราได้ แม้ว่าเราก็ต้องเหนื่อยในการหาฟรีแลนซ์ที่รับผิดชอบอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าหาเจอ เราจะได้คนที่ “รักษามาตรฐาน”, “ทำงานให้เสร็จ แล้วค่อยมาเก็บเงิน” เหมือนๆ กัน

การมืเครือข่ายของฟรีแลนซ์ที่ไว้ใจได้ ทำให้เราสามารถรับงานได้สเกลใหญ่ขึ้น และช่วยลูกค้าแก้ปัญหาได้มากขึ้น ในขณะที่การ “กั๊กงานมาทำคนเดียว เพราะกลัวคนอื่นได้เครดิต” อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาให้ใครเลย ทั้งลูกค้าและเรา

ออกตัวว่า ข้อความเหล่านี้ เขียนไว้เพื่อสอนทั้งตัวเองในวัยหนุ่ม และตัวเองในวัยปัจจุบัน ยังมีเรื่องที่ทำได้ และทำพลาด อยู่เสมอๆ แต่การได้ทบทวนตัวเองว่าผ่านความคิดอะไรมาบ้าง ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่นเช่นกัน

หากฟรีแลนซ์ท่านอื่นมีประสบการณ์อะไร มาแชร์ได้นะครับ

เม่น Avatar

ความเห็น

ใส่ความเห็น

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น