เพื่อนๆ ในค่ายอาสาพัฒนาชนบทในสมัยวัยเยาว์ ส่งข้อความมาว่า ทางคณะวิศวฯ จุฬาฯ จะจัดงาน รำลึก 50 ปี ค่ายยุววิศวกรบพิธ ให้เขียนบันทึกความทรงจำไว้หน่อย
พบว่าผ่านมา 21 ปี เป็นเวลาที่ยาวนานยิ่งนัก
แต่เมื่อหยิบเพลงที่เคยแต่งไว้บนค่ายขึ้นมาอีกครั้ง ความทรงจำหลายๆ อย่างก็พรั่งพรู แม้ช่วงนี้จะเป็นไซนัสอักเสบ แต่ถ้ารอหาย สงสัยงานจะผ่านไปเสียก่อน เลยตัดสินใจบันทึกเสียงไว้ละกัน กับถือโอกาสแต่งเพลงเพิ่มอีกท่อนฮะ
หมายเหตุ: จริงๆ แต่งไว้คีย์ C กะจะใช้คอร์ดง่ายๆ อย่าง C/F/G แต่เนื่องจากช่วงนี้เสียงไม่ถึง ขออัดที่คีย์ Bb ละกัน
ผ่าน
ลมโชยและพัดผ่าน ลำธารยังไหลริน สะพานเรียงร้อยผืนดิน ทอดยาวไกล
เวลาเวียนหมุนผ่าน เพื่อเริ่มวันใหม่ บางสิ่งอาจเปลี่ยนไป บางสิ่งเป็นนิรันดร์
ยิ้มละไมที่มีให้กัน และคืนวันที่เคยร่วมผ่าน
โลกคงหมุนให้เราพบกัน และมอบวันที่ดี
กรำงานใต้แสงแดด เมามายใต้แสงดาว สะพานเรียงร้อยเรื่องราว และผู้คน
เวลาเวียนหมุนผ่าน จากวันที่เริ่มต้น จนวันที่ผ่านพ้น เพื่อผูกพัน
ยิ้มละไมที่มีให้กัน และคืนวันที่เคยร่วมผ่าน
โลกคงหมุนให้เราพบกัน และมอบวันที่ดี
สักวันก็คงต้องจาก หากต้องไกล
สักวันจะพบกันใหม่ หากต้องการ
แต่งเมื่อตอนปี 4 ในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ณ ค่ายยุววิศกรบพิธ 27
ค่ายอาสาพัฒนาชนบท
ค่ายอาสาฯ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทานนาม “ยุววิศวกรบพิธ” จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ หลังจากที่ค่ายครั้งก่อนหน้านั้น ได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และพระราชกระแสรับสั่งมายังนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ทุกคนว่า “จงทำตนให้เป็นผู้ใหญ่และรอบคอบ ทำอะไรอย่าให้บานปลาย” (อ่านเพิ่มเติมที่ ร้อยเรื่องราวจากรั้วจามจุรี)
ผมขึ้นค่ายครั้งแรกปีหนึ่ง คือค่ายครั้งที่ 24 ส่วนค่ายของรุ่นของผมเอง คือค่ายครั้งที่ 27 บางสิ่งอาจเปลี่ยนไปบ้าง ทั้งกระบวนการทำงาน เทคโนโลยีที่ใช้ แต่สิ่งที่อยู่ในใจวัยหนุ่มสาวก็คงไม่ต่างกัน คือ การได้ออกไปเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เท่าที่เรี่ยวแรงและสติปัญญาพึงมี
และสิ่งเหล่านั้นก็อาจเปลี่ยนชีวิตของใครหลายคนไปตลอดกาล
ดิน หญ้า และงาน
ค่ายอาสาฯ แต่ละค่าย มักอยู่ในที่ห่างไกลความเจริญ ในยุคผมนั้น หลายๆ ที่ ไฟฟ้ายังเข้าไปไม่ถึงหรือมีจำกัด การทำงานร่วมกันเลยต้องมีระบบระเบียบและพร้อมเพรียงกัน เข้างานพร้อมกัน กินข้าวพร้อมกัน เลิกงานพร้อมกัน แบ่งหน้าที่ทำตามที่ได้รับมอบหมาย ตั้งคำถามให้น้อย ลงมือทำให้มาก
แม้เครื่องทุ่นแรงในยุคนั้นจะไม่มีมากมาย แต่เราก็ช่วยกันสร้างให้ออกมาเป็นสะพานที่ยังคงทนจนถึงทุกวันนี้
พอมานึกย้อนดูรูปเก่าๆ ก็คิดเหมือนกันว่า
“ไอ้เด็กตัวเล็กๆ พวกนี้มันไปทำอะไรกัน? เปลี่ยนทางน้ำ เชื่อมผืนดิน จากการขุดดินทีละหลุม ผูกเหล็กทีละปล้อง ขึ้นแบบทีละแผ่น เทปูนทีละถุง – เรียนวิศวะ แต่ลงหน้างานแบบเดียวกับกรรมกร”
สะพานที่ข้ามแผ่นน้ำและเชื่อมผู้คน
แม้จะเคยได้ยินมาว่าในหลวงโปรดการสร้างฝายมากกว่าสร้างสะพาน แต่เด็กวิศวะอย่างเรา – ผู้ไม่ละเอียดอ่อนและชำนาญในเส้นทางน้ำ – ย่อมรู้สึกอุ่นใจกับสะพานที่จับต้องได้มากกว่า และบรรเทาความเดือดร้อนได้เป็นรูปธรรมรวดเร็วกว่า
แต่กระนั้นเมื่อลงหน้างานจริง การเปลี่ยนเส้นทางน้ำก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ในค่ายของผมนั้น ปกติหน้าแล้งที่หมู่บ้านน้ำจะน้อย แต่ช่วงที่เราก่อสร้างกลับมีน้ำไหลท่วมฐานตลอดเวลา แก้ด้วยความรู้ทางวิศวกรรมจนหมดหนทาง เพื่อนเลยยอมทิ้งศักดิ์ศรีวิศวะ ถามคนทรงและไหว้เจ้าที่ กลายเป็นฝนหยุดตก น้ำไหลออก ทุกอย่างดำเนินต่อไปราวกับไม่เคยมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้น
เมื่อออกไปอยู่กับชนบท วิธีมองโลกของเราก็จะเปลี่ยนไป แม้เด็กๆ ลูกหลานชาวบ้าน จะมาเล่น มาร้องเพลง มาเรียนหนังสือกับเรา แต่ปัญหาหลายๆ อย่าง เราเองก็ต้องออกไปเรียน ไปรู้ จากการไปพูดคุย และปะทะสังสรรค์กับชาวบ้านเช่นกัน
พี่น้อง และ ผองเพื่อน
มีคำกล่าวว่า ค่ายคือคณะวิศวะ จุฬาฯ ในอดีต ที่ที่ความเป็นพี่เป็นน้องเข้มข้น ช่วยเหลือ เกื้อกูลและเชื่อฟัง ซึ่งต้องยอมรับว่า เพราะองค์ความรู้ในแต่ละชั้นปีนั้นต่างกันจริงๆ และกฏระเบียบต่างๆ ที่เคร่งครัด ก็มักมีจุดประสงค์เพื่อความปลอดภัย และการไม่ไปรบกวนชุมชน (เช่น กฎที่ว่าห้ามซื้อของจากชาวบ้าน)
การแบ่งหน้าที่กันทำ หมุนเวียนงานกัน ทำให้แต่ละคนเข้าใจปัญหาของแต่ละฝ่ายได้ไม่ยาก และบนค่ายที่ทุกคนเท่าเทียมกัน – จนใครที่ได้กินไข่มากกว่าคนอื่น 1 ฟอง นับเป็นการเอาเปรียบ – ย่อมทำให้ความทรงจำบนค่ายนั้น มีแต่เรื่องดีๆ ของการช่วยกันแก้ปัญหา และช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ มากกว่า
และความฝันในวัยเยาว์นั้นก็ช่างงดงามยิ่งนัก อาจเพราะเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่มีภาระหรือต้องกังวลสิ่งใด อาจเพราะเป็นช่วงเวลาที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง และพลังที่เต็มเปี่ยม
ช่วงเวลาที่อาจมีเพียงครั้งเดียวในชีวิต ที่เราจะคิดถึงเพื่อน พี่ น้อง และการอุทิศตนเพื่อสังคม อย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย
หมายเหตุ: ใครคิดถึงวันเก่าๆ ไปดูรูปที่ อัลบัมของหัวหน้าค่าย ของเราได้ (มี 8 อัลบัมนะครับ) กับ สนใจร่วมงานรำลึก ถามป๊ะ, ฮั่น หรือหนค. ของรุ่นท่านได้เลย ?
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น