ริเน็น – สร้างบริษัทที่มีปณิธาน

สำหรับผมแล้ว หนังสือเล่มนี้ยิ่งใหญ่กว่า Built to Last และ Good to Great ของปรมาจารย์เจมส์ ซี. คอลลินส์

ไม่ใช่เพราะเป็นงานวิจัยลึกซึ้ง หรือมีตัวเลขผลประกอบการมหาศาลมายืนยัน แต่เป็นเพราะการฉายให้เห็นตัวอย่างจำนวนมาก ที่สามารถอธิบายเป้าหมายของชีวิตและเป้าหมายของบริษัทที่ทำอยู่ ได้สอดคล้องกัน เห็นภาพบริษัทที่มีจิตวิญญาณ และสร้างประโยชน์ให้กับโลก

ริเน็น – วิสัยทัศน์ พันธกิจ ที่ประกอบด้วยจิตวิญญาณ

ผู้เขียน (ดร.กฤตินี  พงษ์ธนเลิศ หรือ อาจารย์ เกตุวดี Marumura) อธิบายไว้ว่า ริเน็นมาจากคำว่า ริ (理) ซึ่งแปลว่าเหตุผล ผสมกับคำว่าเน็น (念) ซึ่งความหมายดั้งเดิมแปลว่าสติ คำว่า ริเน็น (理念) จึงมีความหมายว่าเหตุผลที่เกิดจากสติ ซึ่งก็คือปัญญา หรือ ปรัชญานั่นเอง

ในหนังสืออธิบายเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง แต่ผมอ่านแล้วคิดถึงคำว่า ปณิธาน มากกว่า ซึ่งมีความหมายถึงความมุ่งมั่น มีวิสัยทัศน์ มีพันธกิจ ที่ประกอบด้วยจิตวิญญาณ

เราสร้างบริษัทไปเพื่ออะไร?

บริษัททั่วไปนั้นทำธุรกิจก็เพียงเพื่อผลกำไร แต่สำหรับบริษัทที่มีริเน็น เกิดมาก็เพื่อสร้างคุณค่าบางอย่างให้กับสังคมหรือโลกผ่านสินค้าหรือบริการของบริษัท ผลประกอบการไม่ใช่เป้าหมายปลายทาง แต่เป็นผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหากดำเนินธุรกิจด้วยวิธีที่ถูกต้อง

หรือในคำอธิบายของผม ก็คือ บริษัทที่ดีนั้นจำเป็นต้องอยู่รอดและทำกำไร ก็เพื่อจะได้มีศักยภาพในการสร้างประโยชน์และความสุขให้กับผู้คน หากการทำกำไรนั้นไม่ได้พัฒนาสังคมให้ดีขึ้น บริษัทก็ไม่ได้มีคุณค่าอะไร และไม่ควรอยู่ต่อไป

พัฒนาอะไร? สร้างคุณค่าอะไร?

เธอกอดลูกน้อยไว้แน่นเหมือนกลัวว่าสงครามจะมาพรากเขาไป ขบวนรถไฟทั้งร้อนทั้งชื้นและเบียดเสียดไปด้วยผู้คน เด็กน้อยคนนั้นคงรู้สึกไม่สบายตัวจึงร้องไห้ตลอดทาง ไม่ว่าแม่จะกอดปลอบเท่าไหร่ก็ยังร้องไห้โยเยไม่หยุด

จังหวะนั้นคุณลุงร่างผอมที่นั่งข้างๆ ทะมุระก็หยิบลูกอมเม็ดเล็กออกมายื่นให้คุณแม่ พอเด็กอมลูกอมปุ๊บก็หยุดร้องไห้ทันที แถมยิ้มร่าออกมาด้วย นั่นเป็นครั้งแรกที่ทะมุระสัมผัสถึงพลังของขนม ขนมมีพลังในการทำให้ผู้คนรู้สึกสบายใจและมีความสุข เป็นสื่อกลางที่เชื่อมเด็กกับผู้ใหญ่เข้าด้วยกัน

และมีพลังแรงกล้ามากจนทำให้ทะมุระตัดสินใจเปิดร้านขนมของตัวเองขึ้นมา

จุดกำเนิดของบริษัทที่มีริเน็นจำนวนมากจะมีลักษณะแบบนี้ คือ เห็นพลังของอะไรบางอย่างที่สามารถส่งมอบความสุขให้ผู้คนได้ สร้างประโยชน์ให้คนอื่นได้ เมื่อผู้ซื้อได้รับสินค้าหรือบริการไป ก็จะรู้สึกขอบคุณและดีใจที่มีบริษัทนี้อยู่บนโลก

สินค้า หรือ ลูกค้า สำคัญที่สุด?

คำตอบของบริษัทที่มีริเน็นคือ ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทีมงาน พนักงาน

เพราะทีมงานที่ดี มีวินัย มีความสุขในการทำงาน จะสร้างสินค้าและบริการที่ยอดเยี่ยมออกมาได้ และสินค้าหรือบริการนั้น ก็จะดึงดูดลูกค้าที่เหมาะสมกับบริษัท (เช่น คนกลุ่มใหญ่ที่ต้องการซื้อสินค้าราคาถูก หรือ คนกลุ่มน้อยที่ยอมจ่ายแพง) และทำให้เกิดผลประกอบการที่ดีในที่สุด

ทำให้บริษัทมองผู้ถือหุ้นสำคัญเป็นลำดับสุดท้าย และบริษัทที่มีริเน็นหลายแห่ง ก็เลือกที่จะไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะผู้ถือหุ้นในตลาด มักจะมองกำไรระยะสั้นมากกว่าความสัมพันธ์ระยะยาว เมื่อบริษัทขาดทุน ผู้ถือหุ้นมักกดดันให้ไล่พนักงานออก ในขณะที่บริษัทที่มีริเน็นนั้น ไม่มองพนักงานเป็นค่าใช้จ่าย แต่มองเป็นผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุข เติบโตไปด้วยกัน (เคียวซงเคียวเอ หรือ ร่วมอยู่ร่วมเจริญ)

ประธานอิเดมิตสึกล่าวว่า “พนักงานก็คือคนในครอบครัว ถ้าครอบครัวลำบาก เราจะไล่เขาออกจากบ้านหรือ?” ฉะนั้นไม่ว่าเกิดวิกฤตใดขึ้น เขาจะมุ่งมั่น ปกป้อง และดูแลพนักงานอย่างสุดชีวิต

นอกจากนั้น ยังกล่าวว่า “หากบริษัทมองแต่กำไร พนักงานก็จะไม่เห็นว่าบริษัทนั้นมีอยู่เพื่ออะไร เราจึงต้องชี้ให้เห็นว่า เรากำลังทำเพื่อประเทศชาติและมวลมนุษย์อยู่”

ความสำเร็จ ความสุข ความรู้สึกขอบคุณ

“ผมไม่ได้ต้องการที่จะประสบความสำเร็จ ผมแค่อยากให้คนจำนวนมากมีความสุขเท่านั้น เมื่อผู้บริหารบางคนเริ่มประสบความสำเร็จ พวกเขากลับลืมว่าทำไมเขาถึงทำธุรกิจ ลืมขอบคุณและคิดถึงลูกค้า คู่ค้า ตลอดจนพนักงาน และหลงมัวเมาไปกับลาภยศ งานเลี้ยงสังสรรค์ และการพักผ่อนหย่อนใจ การกระทำเช่นนี้ จะไม่นำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน อย่าลืมธุรกิจ และอย่าลืมความรู้สึกขอบคุณ”

มุเนสุกุกล่าวเตือนใจผู้บริหารรุ่นใหม่

กำไร กับความเชื่อใจ

ธุรกิจจำนวนมาก เมื่อขายดี ก็ขยายสาขา ลดคุณภาพ ออกโปรโมชั่นตามกระแส แต่สำหรับบริษัทที่มีริเน็นนั้น จะไม่ได้มองที่กำไรในระยะสั้น แต่มองที่ความเชื่อใจในระยะยาว

บริษัทที่มีริเน็นหลายแห่งเลือกที่จะไม่ลดราคา เพราะจะทำให้ไม่ยุติธรรมกับลูกค้าอื่นที่ซื้อในราคาเต็ม หลายแห่งเลือกที่จะไม่รับออร์เดอร์เยอะ ปฏิเสธดาวมิชลิน เพราะเห็นว่าจะทำให้ลูกค้าเดิมอึดอัดและตัวตนของธุรกิจเปลี่ยนไป หลายแห่งอาจจะยอมขายแฟรนไชส์ แต่ในเงื่อนไขว่า จะไม่เก็บค่าธรรมเนียม แต่คุณต้องมาทำงานกับเราหลายปีก่อน ถึงจะมีสิทธิออกไปเปิดร้านในชื่อเราได้

ซึ่งเสน่ห์ของริเน็นก็คือ บริษัทจะมีบุคลิกและความฝันต่างๆ เหมือนกับผู้ก่อตั้ง และทุกบริษัทก็จะยึดมั่นปณิธานเหล่านั้นเอาไว้ จากรุ่นสู่รุ่น เป็นร้อยๆ ปี

พ่อของอินาคากิมักสอนเธอเสมอว่า อย่าคอยดูแต่ตัวเลขเงินฝากสมุดธนาคาร แต่จงสะสมความเชื่อใจ หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นจนเราเหลือเพียงแค่ป้ายไม้แผ่นเดียวกับวัตถุดิบทำขนม ถ้าลูกค้าเห็นป้ายของเราแล้วยังตัดสินใจซื้อทันที นั่นคือพลังของความเชื่อใจ

บทสรุป

อ่านแล้วก็จะพบว่า หลายประเด็นนั้น ก็ใกล้เคียงกับตำราฝรั่ง เรื่องการสร้าง Core Value, สร้างทีม, สร้างแบรนด์ ฯลฯ แต่ริเน็นนั้นจะมีมิติของความเป็นมนุษย์สูงกว่า โอ้อวดอัตตาน้อยกว่า ทำเพื่อส่วนรวมมากกว่า ทำให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนกว่า

และหลักฐานที่น่าสนใจก็คือ ประเทศที่มีบริษัทเก่าแก่กว่า 200 ปีมากที่สุดในโลก คือประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง ซึ่งมีถึง 3,113 บริษัท

มีบริษัทที่มีปณิธานยิ่งใหญ่สามพันแห่ง อยู่มาสองร้อยปี ย่อมเดาไม่ยากว่าจะทำให้สังคมเป็นเช่นไร และประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองได้อย่างไร

อ่านถึงบรรทัดนี้แล้ว หากอยากพบกรณีศึกษาที่ละเอียดยิ่งขึ้น แนะนำให้หา หนังสือริเน็น มาอ่าน และมาร่วมกันพัฒนาชาติบ้านเมือง ด้วยการสร้างองค์กรที่มี “ริเน็น” กันครับ