เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เคยเขียน บล็อกเคว้งคว้างตามประสาวัยหนุ่ม กล่าวถึงว่า หากกัลยาณมิตรทั้งหลาย “ไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว” คงอ้างว้างยิ่งนัก ก็เลยมีมิตรสหายแนะนำให้ไปฟัง หลวงพ่อปราโมทย์
ลูกศิษย์หลวงพ่อปราโมย์จำนวนมาก ฟัง 7 วันบ้าง 7 เดือนบ้าง ก็เริ่มรู้จักภาวะ “รู้สึกตัว” ซึ่งเป็นก้าวแรกของการรู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร
ผมเองเป็นคนสติปัญญาทึบ ฟังมาราวๆ 7 ปี ถึงได้เข้าใจ เลยอยากเขียนบันทึกไว้ เผื่อว่าเพื่อนๆ ที่มีแนวทางชีวิตใกล้เคียงกัน จะสนใจและลองศึกษาดู
ออกตัว
พุทธศาสนานั้นมีตัวชี้วัดว่าเราอยู่ในระดับไหน เรียกว่า รถวินีตสูตร ซึ่งเปรียบเทียบว่าเหมือนกับรถ 7 ผลัด โดยผลัดแรกคือ “การมีศีลครบถ้วน”, ผลัดที่สองคือ “รู้จักความรู้สึกตัว”, ผลัดที่ 3 คือ “การแยกธาตุขันธ์ได้”, ผลัดที่ 4-6 ผมยังไม่เข้าใจ ส่วนผลัดที่ 7 คือ โสดาบัน/สกิทาคามี/อนาคามี/อรหันต์ รายละเอียดลองฟังที่หลวงพ่อปราโมทย์เทศน์ไว้ วันที่ 17 ส.ค. 2557
ผมเองเพิ่งรู้จักความรู้สึกตัว ดังนั้นย่อมมีความเข้าใจจำกัด หากท่านผู้รู้พบว่าตรงไหนเขียนผิดสามารถท้วงติงได้เลยนะครับ
เป้าหมายของพระพุทธศาสนา
ใช้ชีวิตมายาวนานจนจะ 38 ปีแล้ว คุ้นชินกับความสุขและความทุกข์ จนคิดไปว่า “ชีวิตนั้นประกอบด้วยความสุขและความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา” พอเริ่มรู้จักความรู้สึกตัว เลยเพิ่งเข้าใจว่า ชีวิตนั้น สามารถมีเพียงความสุขขั้นสูงสุดอย่างเดียว ปราศจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงนิรันดรได้ ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า “พ้นทุกข์” หรือ “นิพพาน” นั่นเอง
ซึ่งความสุขในลักษณะนี้ ไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยการ “ท่องจำ/คิดวิเคราะห์” ต้องมีวุฒิภาวะพอ ถึงจะได้เห็นและสัมผัส
เหมือนที่ผมเคยเปรียบเทียบว่า ตอนเรายังไม่มีวุฒิภาวะนัก เราก็คิดว่าผงชูรสนั้นอร่อยแล้ว แต่พอเราวุฒิภาวะมากขึ้น จะพบว่ารสชาติของวัตถุดิบนั้นอร่อยกว่า ความสุขที่ปราณีตขึ้น ก็ต้องใช้วุฒิภาวะมากขึ้นถึงจะสัมผัสได้ (ทางพุทธได้ แบ่งความสุขไว้ 10 ระดับ เราส่วนใหญ่รู้จักกันแค่ระดับที่ 1)
พุทธศาสนากล่าวว่าชีวิตเป็นทุกข์ เพราะว่า คนทั่วไปยังไม่เคยเจอความสุขจริงๆ, ที่เราเจอกันคือ ห้วงขณะที่ความทุกข์ลดลงเท่านั้น เหมือนกับการไปบอกคนติดผงชูรสว่า ผงชูรสนั้นไม่ได้อร่อยนะ มีสิ่งที่อร่อยกว่าผงชูรสอยู่อีก แน่นอนว่าเค้าย่อมเข้าใจได้ยาก และอาจเห็นเราเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย
สรุป: เป้าหมายของพุทธศาสนาก็คือ ความสุขขั้นสูงสุด หรือความไม่มีทุกข์โดยสิ้นเชิงนั่นเอง
อุปสรรค: เจ้านายที่ฉลาดที่สุดในโลก
แต่เราไม่สามารถมีความสุขได้จริงๆ เพราะเรากำลังรับใช้เจ้านายที่ฉลาดที่สุดในโลกอยู่ เจ้านายคนนี้จะคอยสั่งเราตลอดเวลา ให้ไปทำสิ่งต่างๆ เช่นไปดูหนัง ไปช้อปปิ้ง ไปกินของอร่อย ไปดราม่า ฯลฯ แล้วเมื่อเราทำเสร็จ เจ้านายจะให้รางวัลมาหน่อยนึงคือ เศษความสุข แล้วก็จะให้โจทย์ใหม่มา ให้ไปทำอย่างอื่นต่อไปอีก ยิ่งทำ ก็ยิ่งได้เศษความสุขมาเรื่อยๆ แต่มันก็ไม่เคยพอ อยู่เพียงชั่วคราวแล้วก็หายไป เหมือนพยับแดด เหมือนภาพลวงตา เหมือนความฝัน, ส่วนถ้าใครไม่ทำตาม จะโดนลงโทษให้ทุรนทุราย ต้องการมากขึ้น อยากมากขึ้น
แต่นอกจากการให้คุณให้โทษนี้ ที่โหดร้ายกว่านั้นก็คือ เจ้านายได้โฆษณาล้างสมอง (Propaganda) เราว่า ทุกสิ่งที่ใช้ให้ไปทำนั้น เราทำโดยความสมัครใจของเราเอง
เจ้านายคนนี้ชื่อว่า ตัณหา ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ของทีมงานใหญ่ที่ชื่อว่า กิเลส, ผู้สร้างความปั่นป่วนทั้งหมดให้โลกและจักรวาลนี้
จะเห็นว่าวิธีการให้คุณให้โทษและล้างสมองนั้น ก็เหมือนกับวิธีของเผด็จการทรราชย์และทุนนิยมสามานย์ทั้งหลายที่เรารู้จัก ก็เพราะเจ้านายคนนี้เป็นคนสั่งให้เราสร้างระบบเหล่านี้ขึ้นมานั่นเอง
หมายเหตุ: ฟังหลวงพ่อปราโมทย์เทศน์เรื่องเจ้านายที่ฉลาดที่สุดในโลก ที่คลิปนี้ เวลา 2:30 นาที เป็นต้นไป
วิธีการเริ่มต้น: ไม่เผลอ และไม่เพ่ง
แม้จะรู้ว่าเราอยู่ในบงการของกิเลส/ตัณหา แต่คนทั่วไปก็ไม่สามารถหลุดออกมาได้ เรามักจะพยายาม “เพ่ง/กด/ข่ม” เพราะคิดว่าจะทำให้กิเลสอ่อนแรง แต่เราก็ดัน “หยิ่งยะโสที่ได้เป็นคนดี” ซึ่งก็ไปรับใช้กิเลสอีกตัวหนึ่ง
ส่วนอีกทาง บางคนอาจจะพยายามทำตามกิเลสไปซะให้หมด, “เผลอ/เพลิน” เพราะคิดว่าวันหนึ่งมันจะเบื่อและอิ่มตัวได้ แต่การเบื่อ/อิน/เซ็ง/เศร้า ก็เป็นกิเลสตัวอื่นๆ ที่บงการเราอยู่ดี แล้วเราก็วนลูปกลับไปรับใช้กิเลสไม่รู้จบ
ทางออกของพุทธศาสนาจึงเป็นทางสายกลาง ระหว่างความเผลอ และความเพ่ง ในห้วงขณะที่เราไม่เผลอและไม่เพ่งนั้น เราจะเป็นอิสระจากกิเลสได้ ห้วงขณะนั้นเรียกว่า “การรู้สึกตัว” หรือ มีสติ (ไม่ใช่สติในความหมายที่เราใช้ๆ กันทั่วไป) เราจะมองโลกไม่เหมือนเดิม เหมือนว่าร่างกายนั้นไม่ใช่ของเราเอง ผู้คนรอบข้างก็ไม่ใช่ที่เราเคยรู้จัก จิตใจจะโปร่งโล่งเบา เพราะไม่ได้ทำตามบงการของใคร เราจะเห็นกระบวนการทำงานของกิเลสที่มาสั่งเรา เช่น เห็นความโกรธได้ผุดขึ้นมา เห็นความโลภกำลังย้อมจิตใจอยู่ ฯลฯ
แต่แม้จะฝึกมาเป็นแรมเดือนแรมปี ห้วงขณะนั้นก็เกิดเพียงเสี้ยววินาที แล้วเราก็กลับมาสู่ภาวะที่กิเลสมาบงการต่อ ซึ่งอาจจะบงการให้บางคนกลัวว่าตัวเราจะหายไป และสั่งให้หยุดศึกษาปฏิบัติไป
การที่เราจะฝึก “การรู้สึกตัว/มีสติ” หรือ ฝึก เจริญสติ (Mindfulness) นั้น มีหลายวิธี ลองฟังจากหลวงพ่อปราโมทย์จะเข้าใจง่ายกว่า
แนะนำ:
แด่เธอผู้มาใหม่ รวมบทความธรรมะและไฟล์เสียงสำหรับผู้เริ่มต้น ส่วนคนที่ฟังภาษาอังกฤษรู้เรื่อง ผมแนะนำ เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ด้วยเช่นกัน (แนะนำ คลิปนี้ ก่อนเลย) เพราะเวลาที่ฟังคนละภาษา เราจะเปลี่ยนวิธีคิดและรับสารไปด้วยนอกจากนั้นหากใช้ iPhone / iPod แนะนำให้ Subscribe iTune Podcast ซึ่งจะมีอัพเดทมาเรื่อยๆ ครับ
ผลลัพธ์?
อย่างที่บอกว่าผมเองเพิ่งจะเริ่มรู้สึกตัวเป็น ทำให้บอกได้เฉพาะที่ที่ภูมิปัญญามีอยู่ นั่นคือ เราจะมีเสี้ยววินาทีที่เป็นอิสระจากกิเลสมากขึ้น (แต่เวลาที่เหลือก็ยังรับใช้กิเลสเหมือนคนปกติอยู่นะ) เสี้ยววินาทีเหล่านั้น มันทำให้จิตใจรู้สึกเต็มอิ่ม มีอิสระ มีความสุข ปราศจากความทุกข์ และทำให้เห็นว่า หากห้วงขณะเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อย ต่อเนื่อง ชีวิตก็น่าจะอยู่ในภาวะที่ไม่มีความทุกข์โดยสิ้นเชิงได้
เลยเริ่มเข้าใจแล้วว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร และพบว่าสิ่งนี้/ภาวะนี้ไม่มีในคำสอนอื่นๆ ที่เคยรู้จัก
ก่อนหน้านี้เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนดี ไม่โกรธใคร แต่พอหัดรู้สึกตัว เราก็จะเห็นห้วงขณะที่ความโกรธได้ผุดขึ้น (เห็นร่องรอยของความโกรธหรือกิเลสตัวอื่นๆ) ที่ผมเจอกับตัวเองก็เช่น
- ห้วงขณะที่กด refresh ใน browser แล้วเว็บตอบสนองช้า ความโกรธได้ผุดขึ้นมา
- ห้วงขณะที่เห็นงานออกแบบเบี้ยวไป 1-2 pixel / เห็นฟอนต์ Comic Sans โผล่อย่างไม่วางแผน / เห็นการจับคู่สีที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ ความโกรธได้ผุดขึ้น
- ในขณะที่เห็นคนเถียงกันด้วยเหตุผลวิบัติ (fallacy) ความ “โกรธ” ได้ผุดขึ้น และ “อยาก” เข้าไปแสดงความเห็น ซึ่งทำให้ “มานะอัตตา” ของตนเองผุดขึ้นมา
- ขณะที่พิมพ์ว่า “มานะอัตตา” ก็พยายามจะโชว์ภูมิอีกว่า มันต้องเรียกว่า “มานะ” นะ ไม่ใช่ “อัตตา” ที่ใชักันผิดๆ – ห้วงขณะนี้ มานะอัตตาอีกตัวก็ได้ผุดขึ้นอีก
ฯลฯ
เมื่อมีห้วงขณะที่เห็นกิเลสตัวเองบ่อยขึ้น ก็เลยพลอยทำให้รู้สึกตัวมากขึ้น นิ่งขึ้น โอ้อวดน้อยลง คลุกคลีน้อยลง ทุกข์น้อยลง มีอิสระและความสุขมากขึ้น
ความจริงของโลกและชีวิต
สำหรับคนที่รักในความรู้ ประเด็นที่น่าสนใจของพุทธศาสนาก็คือ “ที่พวกเรายังเจอความทุกข์อยู่ เพราะเราแค่ โง่ เท่านั้นเอง, ถ้าเราฉลาดได้จริง เราก็ไม่ทุกข์แล้ว” หรือศัพท์เทคนิคเรียกว่า “หัวใจของพุทธศาสนาคือ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง)”
ซึ่งแปลว่า หากอยากเข้าใจโลกและชีวิตจริงๆ ก็ลองศึกษาพุทธศาสนาดู พระโสดาบันก็คือคนที่เริ่มเข้าใจบางส่วน (พระพุทธเจ้าเรียกว่า เป็นผู้มี “สติปัญญาเล็กน้อย”) ส่วนพระอรหันต์ก็คือคนที่เข้าใจโลกและชีวิตครบถ้วนแล้ว
ซึ่งการเข้าใจนี้ไม่ใช่การท่องจำหรือคิดวิเคราะห์ ต้องปฏิบัติเอง เห็นเอง เหมือนที่การขี่จักรยานได้นั้น ไม่ได้มาจากการท่องจำคู่มือ หรือการวิเคราะห์กฏฟิสิกส์ได้
เดอะเมทริกซ์ที่ชื่อสังสารวัฏ
เคยอ่าน พุทธรรม มานานแล้ว ประทับใจที่สรุปตอบคำถามในวัยแสวงหาได้ดีทีเดียว เช่น
- ชีวิตคืออะไร? : ขันธ์ 5 และอายตน 6
- ชีวิตเป็นอย่างไร? : ไตรลักษณ์
- ชีวิตเป็นไปอย่างไร? : ปฏิจจสมุปบาท และ กรรม
แต่หากจะกล่าวอย่างหยาบๆ และฟุ้งซ่านในความรู้ตอนนี้ ผมคิดว่า โลกที่เราอยู่นี้ คล้ายๆ หนังเรื่องเดอะเมทริกซ์ (สนใจ ลองอ่าน “ปรัชญา เดอะเมทริกซ์”) นั่นคือ เราทั้งหลายต่างเป็นเพียงแค่ซอฟต์แวร์ที่รับใช้ “กิเลส” เพื่อให้เกิดพลังงานมาเลี้ยงเดอะเมทริกซ์เท่านั้นเอง โดยผมคิดว่า เดอะเมทริกซ์ ก็คือ สังสารวัฏ หรือลูปของ กิเลส กรรม วิบาก
ทุกครั้งที่เรารับใช้กิเลส เรากำลังป้อนพลังงานกลับไปให้เดอะเมทริกซ์ ก็ยิ่งทำให้กิเลสเข้มแข็งขึ้น และสะสมทาสรับใช้ได้มากขึ้น ยามที่เรากำลังจะตาย ข้อมูลทั้งหมดของเราถูกรวบรวม (archive) เป็นจุติจิตและส่งต่อให้จิตในภพใหม่
และจิตก็มีธรรมชาติที่เหมือนสัญญาณคอมพิวเตอร์ยิ่งนัก คือเกิดขึ้นได้เพียงครั้งละขณะ เช่น เมื่อจิตเกิดที่ตา จะไม่เกิดที่หู (เราไม่สามารถตั้งใจมองและได้ยินได้พร้อมกันในเสี้ยววินาทีเดียวกัน เราทำได้แค่สลับไปมอง แล้วสลับไปได้ยิน)
แต่นั่นเอง เรื่องเหล่านี้นับเป็นอจินไตย คือคิดไปก็บ้าปล่าวๆ ยังไงก็พิสูจน์ไม่ได้ และความพยายามที่จะพิสูจน์ทั้งหลาย ก็คือการรับใช้กิเลสอีกตัวหนึ่งอยู่ดี ?
สนใจฟังเรื่องจุติจิต/ชาตินี้/ชาติหน้า ลองฟัง คลิปนี้ นาทีนี่ 9:27 เป็นต้นไป
เพิ่มเติม: ก.ย. 2017
อีลอน มัสก์ กล่าวว่า เราน่าจะอยู่ในโลกเสมือน / Visual Reality / Simulation มากกว่า (วีดีโออธิบาย) ผมว่าคำนี้อธิบายได้ดีกว่าเดอะเมทริกซ์ ที่ยังติดว่าคนจะต้องมีตัวตนจริงๆ นอกเดอะเมทริกซ์
มา “รู้สึกตัว” กันเถอะ
อ่านถึงบรรทัดนี้ หากไม่รู้สึกว่าผู้เขียนเพี้ยนเกินไป ก็ขอให้ไปฟังธรรมที่เว็บ Dhamma.com กันเถิด รักษาศีล 5 ให้ได้ (ไม่เบียดเบียนผู้อื่น, ไม่เบียดเบียนตนเอง) หาเวลานั่งสมาธิดูวันละ 15 นาที (แนะนำช่วงตื่นนอนใหม่ๆ) แล้วคอยเฝ้าดูจิตใจตนเอง
เชื่อว่าไม่นาน ท่านจะได้พบกับ “ความรู้สึกตัว” แล้วจะเห็นเลยว่า โลกและชีวิต ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น