วิถีของบริษัทขนาดเล็กที่ชื่อ Seed Webs

จริงๆ รู้สึกว่าการเขียนเรื่องการทำงาน การสร้างบริษัท ก็มักจะซ้ำๆ กับที่เคยเขียน ทั้ง ทำงานที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ – เท่าที่ทำมาได้ / แด่ผู้ประกอบการ • บทเรียนที่ได้รับตลอด 14 ปีที่ผ่านมา / ฟรีแลนซ์และวัยหนุ่มที่ผ่านพ้น หรือย้อนไปถึงบล็อกเก่าอย่าง วิถีแห่งเจ้าสำนัก เมื่อ 11 ปีก่อน

แต่ก็มีคนอยากให้เล่าเรื่องบริษัทอยู่

จากบริษัทซี้ด ธีมส์ ที่ตั้งเมื่อ 3-4 ปีก่อน เน้นขายกลุ่มนักพัฒนาเว็บ ตอนนี้ทีมงานเริ่มแข็งแกร่งขึ้น รับงานได้หลากหลายมากขึ้น เลยเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ซี้ด เว็บส์ และปรับขอบเขตงานเป็นทั้งการขายสินค้า (Product) งบหลักพัน เช่น ธีมเวิร์ดเพรส, เว็บสำเร็จรูป / และมีบริการรับทำเว็บ (Project) งบหลักแสน ที่จะทำให้ทีมงานได้พัฒนาทักษะใหม่ๆ และสร้างองค์ความรู้กลับไปพัฒนาโปรดักท์ต่อ – ด้วยทีมขนาดเล็กที่มี 8 คนด้วยกัน

ขอบันทึก และแบ่งปันแนวทางของบริษัทเท่าที่ทำมาดังนี้

1. สร้างงานที่ดีกว่า หรือถูกกว่าตลาด

จุดเริ่มต้นของการแข่งขันในตลาด เราต้องสร้างงานที่ดีกว่าคนอื่น ในราคาเท่ากัน หรือ สร้างงานที่คุณภาพมาตรฐาน ในราคาที่ถูกกว่า (จริงๆ อีกทางนึงคือ ไม่ต้องถูกกว่าหรือดีกว่า แต่ต้องทำให้เร็วกว่า – ซึ่งผมไม่ค่อยแนะนำเท่าไหร่)

ซึ่งพอบริษัทเราอยู่ต่างจังหวัด ทำให้ต้นทุนถูกกว่าออฟฟิศในเมืองหลวง (เงินเดือนน้อยกว่า ค่าครองชีพน้อยกว่า มีเวลาและคุณภาพชีวิตดีกว่า) ก็น่าจะทำให้แข่งขันได้ไม่ยากนัก เพราะลูกค้าหาเราเจอจากในอินเทอร์เน็ต มากกว่าจะเจอจากในตึกสำนักงานต่างๆ

สำหรับงานโปรเจ็ค

เราพยายามจะสร้างงานคุณภาพหลักล้าน ในราคาหลักแสน โดยลูกค้าต้องแลกกับการไม่มีคนคอยเข้าไปประชุม, ไปสังสรรค์เอาใจ หรือไปแก้ปัญหาการเมืองในองค์กรลูกค้าให้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เอเจนซีที่รับงานหลักล้านมักจะต้องทำพ่วงกับตัวงานไปด้วย หรืองานหลักล้านหลายๆ งาน อาจต้องเผื่อเงินใต้โต๊ะไว้อีกต่างหาก – เมื่อเราไม่ยุ่งกับคนเหล่านั้น เราก็คิดราคาถูกกว่าได้

สำหรับงานโปรดักท์

เราพยายามจะเอาองค์ความรู้ด้านบน ที่คิดราคาหลักแสน มาใส่ในธีมหรือเว็บสำเร็จรูป และขายในราคาหลักพัน แต่ลูกค้าต้องไปเรียนรู้และทำเอง โดยทีมงานของเราจะช่วยเหลือและซัพพอร์ททางอีเมลเท่านั้น

2. รับงานให้น้อยกว่าที่ลูกค้าอยากจ้าง

เมื่อบริษัทเริ่มแข่งขันในตลาดได้ แนวทางส่วนใหญ่คือ รีบรับงานเยอะๆ รับคนเยอะๆ ขยายการผลิต แต่จำนวนมากมักจะเจอปัญหาเรื่องคุณภาพงานที่ตกลง ทีมงานประสิทธิภาพแย่ลง การเมืองในองค์กร หรือปัญหาอื่นๆ ที่บริษัทขนาดใหญ่มักหนีไม่พ้น

แต่ผมเลือกที่จะให้บริษัทคงขนาดเล็กไว้ และรับงานได้น้อยกว่าที่ลูกค้าอยากจ้าง ทำให้มีปริมาณงานมากพอจะหล่อเลี้ยงทีมได้ทั้งปี โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการหาลูกค้า มีแค่เลือกว่าลูกค้ารายไหน งานไหน ที่สร้างประโยชน์กับโลกและเหมาะกับเรา แล้วโฟกัสที่การทำงานให้ดีที่สุด ไม่ต้องเสียเวลาขายงาน หางาน

(แต่ต้องเขียนบล็อกและทำเว็บนะ เพราะเป็นการหาลูกค้าแบบหนึ่งเช่นกัน … รวมถึงการไทร์อินบริษัทในโพสต์นี้ด้วยสินะ 555)

3. จ้างเอาท์ซอร์สก่อนจะรับพนักงานประจำ

เมื่องานเยอะกว่าทีมทำเองได้หมด ผมคิดว่าขั้นต่อไปคือ ทดลองแจกงานให้เอาท์ซอร์ส (Outsource) คู่ค้า หรือฟรีแลนซ์คนอื่นๆ โดยให้ทีมงานที่ทำงานนั้นได้ ลองจ้างคนอื่นมาทำ แล้วเพิ่มทักษะตนเองให้เป็นผู้ตรวจงานและบริหารงานแทน

ซึ่งเมื่อได้ลองจ้างคนอื่น จะทำให้เค้าเห็นความสามารถและราคาของตลาด และอาจจะพบว่าส่วนใหญ่ราคาถูกกว่าเรามาก แปลว่าเรายิ่งต้องพัฒนาตัวเองให้มีทักษะที่สูงขึ้น จัดการแจกงานและตรวจงานได้ดีขึ้น ไม่งั้นก็จะกลายเป็นพ่อค้าคนกลางที่ไม่สร้างมูลค่าอะไร

ทำไมคนอื่นถึงคิดราคาต่ำกว่าเรา?

ตลาดรับทำเว็บ/ออกแบบ/เขียนโปรแกรม ก็เหมือนตลาดรับเหมาก่อสร้าง เจ้าของบ้านมักจะยังไม่ชัดเจน มีการขอแก้งาน ส่วนผู้รับเหมาส่วนใหญ่ พอเริ่มแก้เยอะก็จะทิ้งงานและไม่รับผิดชอบ เพราะเค้าได้กำไรสูงกว่าการไม่ทิ้งงาน

ทำให้ราคาตลาดมักจะถูกกว่าความเป็นจริง ถูกกว่าจะสร้างงานที่มีคุณภาพดีๆ ได้ คนที่รับงานในราคาตลาดส่วนมากจึงเน้นรับเฉพาะงานที่จบง่ายๆ เร็วๆ และทิ้งงานถ้าเริ่มยากขึ้น

ลูกค้าจึงมี 2 แบบ คือ

  1. ลูกค้าที่ยังไม่รู้ว่าผู้รับเหมาส่วนใหญ่ทิ้งงาน ก็จะไปหาผู้รับเหมาถูกๆ ถ้าโชคดีเจอคนรับผิดชอบ หรือตนเองให้โจทย์ที่ชัดเจนและทำได้ง่าย ก็จะได้ราคาถูกไป แต่เกือบทั้งหมดมักจะมีการแก้งานและผู้รับเหมามักจะทิ้งงาน สุดท้ายงบเหลือไม่เยอะ ก็จะไปหาผู้รับเหมารายอื่นที่ถูกๆ แล้วเสี่ยงดวงต่อ
  2. ลูกค้าที่เคยเจ็บมาแล้ว และพยายามหาคนที่มีคุณภาพสูง โดยยอมจ่ายราคาแพงขึ้น อาจแพงกว่ามาตรฐานนิดหน่อย หรือยอมไปจ้างบริษัทขนาดใหญ่มาทำให้แทนไปเลย

ทำให้ผู้รับเหมาที่รับผิดชอบงาน มีชื่อเสียง มักจะมีงานล้นมือ และราคาแพงกว่าตลาด ส่วนผู้รับเหมาที่ยังเริ่มต้น จึงต้องคิดราคาต่ำกว่า จนกว่าจะสะสมผลงานและสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าได้

การให้ทีมงานได้ลองจ้างคนอื่นทำงาน จะทำให้เค้าเห็นอีกมุมนึงว่า คนอื่นๆ ที่ราคาถูก มักจะไม่รับผิดชอบงาน เค้ายิ่งต้องรับผิดชอบงานให้มากขึ้น และถ้าหากเจอคนที่รับผิดชอบงานได้ดีเหมือนกัน จะได้ยิ่งส่งงานต่อและเพิ่มค่าตอบแทนให้ เพื่อให้เค้าอยากทำงานกับเรามากกว่าลูกค้าอื่นที่จ่ายราคามาตรฐาน

4. มีพนักงานน้อยกว่าคนที่อยากเข้าทำงาน

เมื่อมีพนักงานจำนวนน้อย ก็ต้องดูแลให้ดีกว่าบริษัทขนาดใหญ่ พอเปิดรับพนักงานใหม่ จะทำให้ใช้เวลาไม่นานในการรับคน และยิ่งหากจ้างเอาท์ซอร์สมาต่อเนื่องหลายงาน เราก็อาจดึงตัวมาร่วมทีมได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างประกาศรับสมัครงาน

รับสมัครตำแหน่ง Junior WordPress Frontend Developer ทำงานเต็มเวลา จ.-ศ.

การทำงาน

  1. ระยะแรกเน้นแค่ตัด CSS ตามดีไซน์ (ถ้าใช้ SCSS ไม่เป็นเดี๋ยวสอน)
  2. ถ้าเริ่มชำนาญ จะให้ช่วยทั้ง SCSS/JS/PHP และร่วมทำ WordPress Theme
  3. ช่วยทีมทำงานเว็บ WordPress ทั้งงานของ Seed Webs เอง และงานจากบริษัทที่อเมริกา ดังนั้นต้องอ่านอีเมลภาษาอังกฤษได้บ้าง
  4. ทำงานที่ไหนก็ได้ แต่ต้องรับผิดชอบงานได้ มีการบันทึกเวลาทำงานแต่ละโปรเจ็ค (ทีมเราใช้ Everhour ร่วมกับ Basecamp) ลงเวลาย้อนหลังได้
  5. คาดหวังเวลาทำงานที่ไม่อู้ 6 ชั่วโมงต่อวัน ไม่แนะนำให้ทำเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน
  6. รับงานอื่นก็ได้ แต่งานบริษัทต้องสำคัญกว่าเสมอ ถ้าจัดเวลาไม่ได้จะให้เป็น Outsource แทนการเป็นพนักงานประจำ
  7. วันทำงานจันทร์-ศุกร์ ประชุมทุกเช้า 10 โมง อัปเดตงานระหว่างวันทางโปรแกรมแชท
  8. หยุดตามปฏิทินวันหยุดไทย และทุกเสาร์อาทิตย์ แต่หากมีปัญหาด่วนต้องหาทางช่วยกันแก้
  9. ไม่มีกำหนดวันลา ไปบริหารไม่ให้งานมีปัญหาละกัน (จากสถิติที่ผ่านมา ถ้าทีมยังไม่เชื่อใจ ก็ลาได้ครั้งละ 1 วัน ถ้าทีมเชื่อใจ มีคนช่วยงานแทน ก็ลาได้ครั้งละ 1 สัปดาห์)

ค่าตอบแทน

  1. ระยะทดลองงาน ให้ชั่วโมงละ 100 บาท ดังนั้นเงินเดือนจะอยู่ในช่วง 15,000 – 20,000 บาท
  2. หากผ่านการทดลองงาน (2-3 เดือน) จะปรับเพิ่มให้ 10-20% และให้วงเงิน 60,000 บาทไปซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็น (แนะนำให้ใช้ Mac เพราะดูแลง่ายกว่า) ผ่อนคืนเดือนละ 3,000 บาท 20 เดือน
  3. มีโบนัสปีละ 1-2 ครั้ง (อาจไม่มาก ขึ้นกับผลกำไรบริษัท) อาจมีเงินพิเศษในแต่ละเดือน หากทำงานได้ดีกว่าที่ลงเวลาไว้ หรือช่วยเหลือด้านอื่นๆ ให้ทีมได้ ปรับฐานเงินเดือน 1-2 ครั้ง/ปี
  4. บริษัทจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทุกอย่างที่จำเป็นให้ (เช่น Adobe CC / Dropbox Business / Stock Photo / Plugins) รวมถึง Ebook หรือคอร์สต่างๆ ที่ทีมงานสนใจ

คุณสมบัติ

  1. ตัดเว็บ (HTML/CSS) จากดีไซน์ที่กำหนดได้ ทั้ง mobile / tablet / desktop
  2. รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เข่น สามารถค้น Google แล้วเจอคำตอบใน Stack Overflow / CSS Tricks ได้ หรือ ลองหัดใช้ CodePen.io เองได้
  3. ร่าเริง ไม่เครียดง่าย โมโหง่าย
  4. ไม่โกหกทีม คุยกันตรงไปตรงมา ทำผิดได้ แก้ไขให้เร็ว
  5. ทำงานเป็นทีม สื่อสารกับเพื่อนร่วมทีมและลูกค้าได้ ทักแชทในเวลางานแล้วตอบภายใน 15 นาที (นอกจากอยู่ในโหมดโฟกัสงาน ซึ่งไม่ควรเกิน 30 นาทีต่อรอบ)
  6. สามารถมาทำงานร่วมกันที่ปายได้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1-2 สัปดาห์ (ออกค่าเดินทางและที่พักให้)
  7. ไม่จำกัดเพศ อายุ การศึกษา แต่คิดว่าน่าจะเหมาะกับคนเพิ่งจบปริญญาตรี ประสบการณ์ 0-3 ปี

วิธีสมัครงาน

  1. เตรียม Resume + รูปถ่าย เป็นไฟล์ PDF และตัวอย่างผลงานที่เคยทำ (เช่น โค้ด HTML/CSS/JS) หรือ Github Profile
  2. แนะนำตัวสั้นๆ 1-3 ย่อหน้า ว่าเป็นใคร สนใจด้านไหน ทำอะไรมาบ้าง อยากทำอะไรในอนาคต และสามารถเริ่มงานได้เมื่อไหร่ ไม่ต้องเป็นทางการ เล่าเหมือนเขียนบล็อกเหรืออัปสเตตัส
  3. ส่งอีเมลมาที่ hr@seedwebs.com
  4. ทุกเมลที่บริษัทได้รับ เราจะตอบกลับว่าได้รับเมลแล้ว
  5. หากทีมงานสนใจ จะนัดเพื่อสัมภาษณ์งานออนไลน์

การสัมภาษณ์งาน

  1. นัดสัมภาษณ์ออนไลน์ (Google Meet) กับทีมงานทั้งหมด
  2. จะขอให้ Share Screen และลองเขียนโค้ดจากตัวอย่างดีไซน์ที่กำหนดให้ (ใช้เวลาได้เต็มที่ และทำผิดได้ เป็นเรื่องปกติ)
  3. บริษัทจะยืนยันผลการสัมภาษณ์ให้ทางอีเมล ภายใน 1 สัปดาห์

ประกาศรับสมัครงานด้านบน ทำให้ได้ทีมงานเพิ่ม 2 คนในเวลา 7 วัน มีบริษัทจัดหางานบางแห่งติดต่อถามมาว่าสนใจให้เค้าช่วยหาคนให้หรือเปล่า แต่ผมปฏิเสธไป เพราะเชื่อว่า การมีทิศทางชัดเจน ทำให้เราเจอคนที่ใช่ได้เร็วกว่า ไม่ต้องเสียเวลาอ่านใบสมัครงานกับคนที่ไม่ได้ตั้งใจสมัครงานกับเราด้วย

5. ทุกคนที่ทำงานต้องสื่อสารตรงกับลูกค้าได้

ในบริษัทขนาดใหญ่ คนที่จะติดต่อลูกค้ามักจะเป็นฝ่ายขาย (Sale) ฝ่ายดูแลลูกค้า (AE) หรือ ฝ่ายบริหารโครงการ (PM) ในขณะที่นักออกแบบหรือโปรแกรมเมอร์ไม่ค่อยได้คุยงานตรงกับลูกค้า ทำให้ต้องสื่อสารหลายต่อ ใช้เวลาเยอะ และอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน

หากเราเลือกทำงานเฉพาะโปรเจ็คขนาดเล็ก (งบไม่เกินล้าน) ทีมงานมีขนาดเล็ก (5-10 คน) ผมคิดว่าเอาคนที่เกี่ยวข้องมาคุยรวมกันไปเลยดีกว่า ทีมงานอาจจะต้องพัฒนาทักษะการสื่อสารมากขึ้น แต่สิ่งที่ได้คือ ทำให้เห็นปัญหาจากลูกค้าชัดขึ้น แก้ไขและจบงานได้เร็วขึ้น

6. ไม่มอบหมายงาน แต่มอบหมายความรับผิดชอบ

พนักงานทั่วไปอาจจะคาดหวังให้หัวหน้างานสั่งงานให้ละเอียด มีกำหนดชัดเจน แต่สำหรับบริษัทขนาดเล็ก ผมคิดว่าการมองเป้าหมายงานร่วมกันในภาพรวมสำคัญกว่า เช่น สรุปงานกันก่อนว่า ผลลัพธ์ควรมีฟีเจอร์แบบไหน งานที่เสร็จแล้วควรเป็นอย่างไร ที่เหลือก็ปล่อยให้ทีมงานลงรายละเอียดงานเองว่าจะทำอย่างไรให้ได้ตามเป้าหมายนั้น ซึ่งหลักๆ ก็คือจบงานให้ได้ ใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพ

ดังนั้นความรับผิดชอบ จึงอาจทำให้ต้องทำงานในวันหยุดหากระบบมีปัญหา แต่ก็สามารถหยุดงานในวันธรรมดาได้ หากบริหารเวลาได้ ต้องตอบแชทลูกค้าในโปรเจ็คของตัวเองให้ได้ (เร็วกว่าที่ผมตอบ) หรืออาจแนะนำ/ต่อรองกับลูกค้าได้ด้วยว่า วิธีการที่เคยคุยกันอาจไม่เหมาะสมกับหน้างาน แล้วก็เสนอทางออกอื่นที่ดีกว่า

ดังนั้นในบริษัทที่ผมทำอยู่ เลยไม่มีตำแหน่ง PM ที่เป็นแค่คนบริหารงาน แต่มักพ่วงตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ หรือนักออกแบบไปด้วย เพื่อจะได้แก้งานหลายๆ จุดได้เองทันที

7. ทุกคนเห็นตัวเลขกำไรขาดทุนร่วมกัน

ต้นทุนหลักของบริษัทออกแบบและพัฒนาระบบคือเงินเดือน หรือก็คือเวลาที่ใช้ในการทำงาน หากทีมงานสามารถลงเวลาได้ว่าทำงานกับโปรเจ็คไหนเท่าไหร่ เราก็จะสามารถเห็นผลลัพธ์ของแต่ละงานได้ทุกเวลา ว่างานนี้น่าจะกำไร หรือขาดทุน

ตอนนี้ทีมผมใช้ Everhour ในการลงเวลาทำงาน และ Basecamp ในการมอบหมายงานและบริหารโปรเจ็ค หน้าตาที่ทีมเห็นจะเป็นตามรูป (ขอเปลี่ยนข้อมูลลูกค้าเป็นข้อความอื่นนะครับ)

โดยต้นทุนของบริษัทนั้น ผมเขียนไว้ใน แนวทางการคิดราคาค่าออกแบบ ไว้นานแล้วว่า มักจะเป็น 2 เท่าของเงินเดือน ดังนั้น เริ่มต้น ผมจะใส่ค่าแรงรายชั่วโมงของแต่ละคนตามจริงไว้ก่อน (ตั้งแต่ 120 – 800 บาท) แล้วคูณด้วย 3 เป็นราคาสำหรับตั้งงบประมาณของงาน

นั่นคือ ถ้าทำงานเสร็จ จบโปรเจ็คแล้วเวลาที่ใช้ไม่เกินงบที่ตั้งไว้ บริษัทก็จะมีเงินพอที่จะจ่ายโบนัส ลงทุนเพิ่ม และปันผลกลับมาให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งทีมงานบางคนก็เป็นผู้ถือหุ้นด้วย

เงินเดือนไม่ใช่ความลับ

เมื่อเห็นต้นทุน ก็ต้องเห็นเงินเดือน สำหรับบริษัทขนาดเล็ก ยากที่จะทำให้คนปิดบังเงินเดือนกันได้ ก็เปิดให้ทุกคนเห็นเลยดีกว่าว่าแต่ละคนได้เท่าไหร่ และบริษัทคาดหวังความสามารถระดับไหนในแต่ละขั้นเงินเดือน เช่น

  • เงินเดือน 15,000 ควรแก้ปัญหาพื้นฐาน รับผิดชอบตัวเองได้ ไม่ต้องอ้างดินฟ้าอากาศ ฝนตกรถติด
  • เงินเดือน 20,000 ควรจบงานในความรับผิดชอบตัวเองได้ หาวิธีต่างๆ ให้งานสำเร็จโดยไม่ต้องคอยถาม
  • เงินเดือน 30,000 ควรผลักดันคนอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้โปรเจ็คจบได้ หรือมีทักษะเฉพาะทางที่คนอื่นทำไม่ได้

8. ขาย Solution อย่าขาย R&D

ในสมัยที่ผมทำงานเอเจนซี่ เรามักต้องเจอโจทย์แปลกๆ ที่ต้องค้นคว้าวิจัยและนำมาสร้างงานภายในเวลาจำกัด อาจจะต้องรับปากทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า เช่น เมื่อมือถือมี App Store ครั้งแรก เราก็ต้องหาวิธีสร้าง App ของลูกค้าและส่งเข้าไปให้ได้ / เมื่อเฟสบุ๊คเปิดให้สร้างควิซ เกมต่างๆ เราก็ต้องนำแคมเปญของลูกค้ามาประกอบให้ได้ ซึ่งบางอย่างฝรั่งก็อาจจะยังไม่ได้เริ่มทำ และไม่มีตัวอย่างงานแนวนี้ให้ดู หรือตอนที่มีระบบ AR (Augmented Reality) / หรือ IoT (Internet of Things) เกิดขึ้น เราก็ต้องดึงเข้ามากับงานประชาสัมพันธ์ที่กำลังจะเปิดตัวสินค้า ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ ผมเรียกว่างาน R&D (Research & Development) ที่ลูกค้ายอมจ่ายหลักล้าน เพื่อให้ได้เป็นรายแรกๆ ที่ทำ

ในขณะที่ เมื่อรออีกไม่กี่เดือนถัดมา มันจะสร้างได้ง่ายขึ้น เครื่องมือเยอะขึ้น กลายเป็น Solution ที่คนอาจจะยอมจ่ายแค่หลักหมื่น เพราะมีคนทำได้เยอะแล้ว

สำหรับบริษัทขนาดเล็ก ผมมองว่า สิ่งใหม่ๆ ต่างๆ เราควรแค่ R&D ภายใน หากไม่เสร็จจนกลายเป็น Solution ก็ยังไม่ควรเปิดขาย เพราะหากมีปัญหา เราอาจจะต้องดูแลลูกค้ารายนั้นจนไม่สามารถทำงานอื่นได้

ในขณะที่เมื่อมันกลายเป็น Solution เราอาจขายให้กับลูกค้าร้อยคนพันคนได้ไม่ยาก อาจได้เงินเยอะกว่าตอนเป็น R&D ในขณะที่กดดันทีมน้อยกว่า

9. ขายหุ้น อย่าเปิดระดมทุน

จากด้านบน จะเห็นว่า ผมชอบขายของราคาไม่แพงให้กับคนจำนวนมาก มากกว่าขายของแพงมากๆ ให้กับลูกค้าไม่กี่ราย

แต่การขอเงินคนอื่นเพื่อมาทำธุรกิจนั้นกลับต่างออกไป หากเราเปิดระดมทุน ขอเงินคนจำนวนมากมาทำ เราจะเจอปัญหาว่า ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของและอยากให้เราทำตามความคิดของเค้า มากกว่าจะเข้าใจว่า ธุรกิจนั้นต้องมีทิศทางที่ชัดเจน และปล่อยให้ผู้บริหารได้ตัดสินใจ

หากธุรกิจมีปัญหา เราควรจะคุยกับผู้ถือหุ้นไม่กี่คน ไม่ใช่ต้องชี้แจงคนเป็นจำนวนมาก และเป็นหนี้บุญคุณคนจำนวนมาก

สตาร์ตอัปที่ชื่อซี้ด ธีมส์

ในตอนแรกผมคิดแค่เพียงอยากให้มีธีมเวิร์ดเพรสที่เหมาะกับคนไทย และฟอนต์ไทยที่เหมาะกับการอ่านบนจอ (ในตอนนั้นยังไม่มี Google Font ภาษาไทย)

ผมเลยคิดว่าอยากระดมทุนซัก 2-3 ล้าน เพื่อให้ผมหยุดรับงานอื่น และดึงคนมาทำโปรเจ็คนี้เป็นเวลา 1 ปี (เฉพาะค่าฟอนต์สั่งทำ ก็ประมาณครึ่งล้าน) แต่ฮั้นท์ แห่งจิตตะ แนะนำว่า หนี้เงินไม่เท่าหนี้บุญคุณ ผมควรขายหุ้นกับนักลงทุนไม่กี่คน ดีกว่าเปิดรับเงินจากคนจำนวนมาก เพราะฮั้นท์เคยทำไดอารี่ออนไลน์มาก่อน บางคนบริจาคเงิน 500 บาท แต่คาดหวังให้เพิ่มฟีเจอร์จำนวนมาก เมื่อทำไม่ได้ก็ผิดใจกัน

พี่ราเมศว์พาผมไปคุยกับกองทุนสตาร์ตอัปของวิศวะจุฬา รุ่นพี่หลายคนสนใจลงเงินมาด้วย ทำให้โปรเจ็ค SeedThemes นี้เกิดขึ้น

โบ๊ตแนะนำว่า สตาร์ตอัปควรตีมูลค่าบริษัทตัวเองที่เริ่มต้น 10-20 ล้าน (หมายความว่า ควรทำกำไรให้ได้ 1-2 ล้านต่อปี ตามสูตร P/E 10) และส่วนใหญ่มักจะโต 5-10 เท่าใน 5 ปี

ด้วยวิธีนี้ หากผมถือหุ้นใหญ่ และขายหุ้น 10-20% ออกไป ผมก็จะสามารถมีเงินตั้งต้นในการทำธุรกิจได้

หากเดินต่อไปในเกมของสตาร์ตอัป ผู้ก่อตั้งมักหาทางสร้างผลงาน เช่น มีคนใช้เยอะ ยอดคนดูเยอะ แนวโน้มจะทำกำไรมหาศาล มูลค่าหุ้นจึงเพิ่ม เปิดโอกาสให้คนที่ซื้อรอบแรกๆ แบ่งขายหุ้นทำกำไรได้เร็ว และตนเองก็เจียดหุ้นขายในราคาที่สูงขึ้นได้อีกหลายเท่า ดังนั้น แม้สตาร์ตอัปยังไม่สร้างรายได้ ผู้ก่อตั้งก็ยังทำเงินจำนวนมากได้

แต่มีสตาร์ตอัปน้อยมากที่เติบโตจนสามารถขายกิจการให้บริษัทใหญ่ หรือทำกำไรจนสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ หลายเจ้าขยายไม่สำเร็จ เลือกที่จะปั้นตัวเลข จนกลายเป็นฟองสบู่ ใครลุกช้าก็จ่ายรอบวง

แต่ผมเองไม่ได้มองแบบนั้น ผมคิดว่าธุรกิจนี้สร้างรายได้ได้จริง แต่ใช้เวลาในการสร้างตลาดและสร้างคน จนตอนนี้ถึงจุดที่คนเริ่มพร้อม เลยปรับทิศทางบริษัทตามที่กล่าวไว้ด้านบน

การเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นซี้ด เว็บส์ เป็นหมุดหมายอันนึงสำหรับผมว่า เราจะไม่นับตัวเองเป็นสตาร์ตอัปแล้ว แต่จะเป็น SME ที่สร้างกำไรและจ่ายเงินปันผลได้ต่อเนื่อง บนสินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์กับคนในวงกว้างแทน

10. เติบโตไปด้วยกัน

ใน หนังสือริเน็น อ. กฤตินี แปลคำว่า เคียวซงเคียวเอ ว่า ร่วมอยู่ร่วมเจริญ ผมเองก็คิดในแนวทางนี้มายาวนาน แต่ใช้คำว่า เติบโตไปด้วยกัน มากกว่า ทำให้ตั้งชื่อบริษัทขึ้นต้นด้วยคำว่า ซี้ด (Seed) ที่แปลว่าเมล็ดพันธุ์ ที่จะเป็นจุดตั้งต้นสำหรับการเติบโตและพัฒนา

ทั้งการเติบโตสำหรับทีมงาน ที่ใช้ Seed เพื่อเรียนรู้ ฝึกฝน และสร้างงาน

และการเติบโตสำหรับลูกค้า ที่สามารถนำไปใช้สร้างสินค้าและบริการอีกต่อหนึ่ง

บริษัทขนาดเล็กนั้นอาจไม่ได้เติบโตได้รวดเร็วนัก แต่เพราะมีขนาดเล็กจึงปรับตัวได้เร็ว พร้อมที่จะเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที และเมื่อพัฒนาอยู่เสมอ สามารถอยู่รอดในวิกฤติต่างๆ ได้ นั่นจึงควรเรียกว่ามั่นคง

สร้างงาน สร้างอาชีพ

หลักจากที่เปิดคอร์สสอนทำเว็บด้วยธีม Seed ไปไม่นาน มีคนลาวบินมาเจอผมที่กรุงเทพฯ และขอบคุณ พร้อมทั้งเล่าว่า เค้าเองได้ซื้อชุด Seed Kit ไปฝึกอยู่ 1-2 เดือน หลังจากนั้นก็รับงานทำเว็บในลาว เค้าคิดลูกค้าเว็บละ 5,000 บาท ทำไม่กี่เดือนก็จบงานไป 30-40 เว็บแล้ว และทำให้เค้ายึดถือเป็นอาชีพต่อไป

น้องๆ ในไทยหลายคนก็มาบอกเช่นกันว่า ได้นำชุดคิทและแนวทางต่างๆ ไปสร้างอาชีพของเค้า และกลายเป็นธุรกิจที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

เหมือนกับที่เวิร์ดเพรสและโอเพนซอร์ซได้สร้างงานสร้างอาชีพให้ผม ผมเองก็ตั้งใจสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนรุ่นถัดไปเช่นกัน