โปรดักทิวิตี้ อิทธิบาทสี่ และมงคลชีวิต

ตอนแรกจะสรุปประเด็นที่คุยในคลับเฮ้าส์: ⏱️ ? Productivity Hacks: มาทำชีวิตให้ Productive ขึ้นกัน!

แต่พบว่าคุยเพลิน จดมาขาดๆ เกินๆ เลยขอบันทึกภาพรวม กับเปลี่ยนเป็นประเด็นที่ผมสนใจแทนละกัน

นั่นคือ Productivity มันสอดคล้องกับ อิทธิบาทสี่ และมงคลชีวิต แฮะ

Productivity คืออะไร?

ภาษาไทยใช้คำว่า ผลิตภาพ ซึ่งไม่ได้มองแค่ ประสิทธิภาพ (Efficiency) ในเชิงปริมาณ แต่รวมไปถึงคุณค่าด้านอื่นๆ ว่ามีความสำคัญร่วมด้วย เช่น ผลลัพธ์มีคุณภาพที่ดี ตอบโจทย์ในเป้าหมาย สร้างมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ

1. เริ่มจาก Passion หรือแรงบันดาลใจ? ตอบ ฉันทะ

คำว่า Passion นั้นมีความกำกวม ถ้าเทียบเป็นศัพท์ในพุทธศาสนา ก็ต้องถามก่อนว่า Passion เป็น ความโลภ/ความใคร่ อยากได้มา (โลภะ และ ราคะ อยู่ในกลุ่มเดียวกัน) หรือเป็น ความปรารถนาที่จะทำบางสิ่งแม้จะยังไม่เห็นผลลัพธ์ หรือความรักในงานที่ทำ (ฉันทะ)

หลวงพ่อปราโมทย์ เคยเทศน์สรุปไว้ว่า หากมุ่งมั่นจะทำเหตุ เรียกว่าฉันทะ หากโหยหาจะได้ผลลัพธ์ เรียกว่า โลภะ

ดังนั้น อยากประสบความสำเร็จ หรือสร้างงานที่มีคุณค่า จึงต้องเริ่มจาก ฉันทะ ซึ่งเป็นด้านที่ดีของ Passion หรือแรงบันดาลใจนั่นเอง ถ้าโหยหาแต่ผลลัพธ์ ชื่อเสียง เงินทอง มันก็จะไปไม่รอด

2. หมด Passion ยังต้องมี Grit? ตอบ วิริยะ

รักในงานที่ทำ แต่ไม่ลงมือทำ ก็ไม่เกิดประโยชน์ มีฝรั่งในปายเคยคุยกับผมหลายปีก่อน เค้าบอกว่า เค้าชอบคำว่า “พยายาม (วิริยะ)” มากเลย เพราะมันมุ่งมั่น ทุ่มเท และอดทนยิ่งกว่าคำว่า “Try” ที่เหมือนจะยอมล้มเลิกได้ตลอดเวลา หลายคนเลยชอบวาทะของปรามาจารย์โยดาที่ว่า “Do or do not. There is no try.” กันมาก

ซึ่งวิริยะคือ do ไม่ใช่ try

หลายปีต่อมา มีฝรั่งออกหนังสือดังๆ ชื่อว่า Grit กล่าวถึงความมุ่งมั่นพากเพียร ผมเลยคิดว่าคำนี้แหละ คือ วิริยะ

3. ทำทุกอย่างก็จะไม่ดีซักอย่าง เราต้อง Focus? ตอบ จิตตะ

ในตอนเริ่มต้นทำงาน เราต้องลองหลายๆ อย่าง ลุยทำไปทุกอย่าง (วิริยะ) แต่เมื่อเริ่มชำนาญแล้ว เรากลับต้องเลือกที่จะปฏิเสธงานและทำไม่กี่อย่างแทน ในอิทธิบาท 4 เรียกว่า จิตตะ หรือความเอาใจจดจ่อ

ซึ่งเมื่อผมนึกถึง Jitta ก็จะนึกถึงปู่ Warrent Buffett และเรื่องราวของปู่กับนักบินคู่ใจที่ชื่อว่าไมค์

Warren Buffett & Mike Flint

ไมค์เป็นนักบินประจำตัวปู่วอเรนท์ – ทั้งที่เคยบินให้คนใหญ่ๆ โตๆ มามาก แต่ไมค์รู้สึกว่า ตัวเองยังไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต เลยมาปรึกษาปู่

ปู่บอกว่า ไมค์ งั้นนายลองลิสต์เป้าหมายที่อยากทำในชีวิตมา 25 อย่างหน่อยซิ

ไมค์ใช้เวลาซักพัก ก็รวมรวมรายการมาได้ครบ

ปู่บอกต่อ แล้วเลือกวงแค่ 5 อย่างที่สำคัญที่สุด

ไมค์ใช้เวลาอยู่นาน เพราะทุกสิ่งล้วนเป็นสิ่งสำคัญ แต่แล้วในที่สุด ไมค์ก็เลือกวงได้ และบอกกับปู่ว่า

“ผมเข้าใจแล้วครับปู่ ผมต้องโฟกัส 5 สิ่งที่ผมวงไว้ ก่อนทำอย่างอื่น แล้วเมื่อผมมีเวลาเหลือ ผมค่อยทำ 20 สิ่งที่ไม่ได้วง”

ผิดแล้วไมค์ – ปู่ตอบ – สิ่งที่ปู่จะบอกก็คือ

หากนายยังทำ 5 สิ่งนี้ไม่สำเร็จ อีก 20 สิ่งที่เหลือ นายไม่ต้องไปทำ

นี่แหละคือความหมายของคำว่าโฟกัส

ซึ่งสิ่งที่ปู่วอเรนท์บอก ก็ตรงกับกฏ 80:20 ของพาเรโต้นั่นเอง

4. วัดผล ทบทวน ด้วย KPI หรือ OKR? ตอบ วิมังสา

เมื่อเลือกสิ่งที่จะโฟกัสได้ ระหว่างทางก็ต้องวัดผล วิเคราะห์ ใคร่ครวญด้วย ว่าเรามาถูกทางหรือเปล่า เข้าใกล้เป้าหมายขึ้นหรือเปล่า ถ้าเข้าใจมากขึ้น เราก็จะมีความ รักในงานที่ทำ มากขึ้น มีความ พยายาม มากขึ้น โฟกัส ได้มากขึ้น และกลับมาวิเคราะห์ ได้ลึกซึ้งขึ้นอีก (วนลูปของอิทธิบาทไปเรื่อยๆ)

ทำให้ส่วนตัว ผมรู้สึกว่า อิทธิบาท 4 นั้น แยบคายกว่า PDCA (Plan Do Check Action) ของดร. เดมมิ่ง ยิ่งนัก อย่างน้อยก็เริ่มต้นด้วยความรัก ไม่ใช่การวางแผน ?

ทีนี้ ในแง่มุมของการเดินเข้าใกล้เป้าหมาย ผมคิดว่าประเด็นที่น่าเล่า ก็คือ เรื่องของการสำรวจขั้วโลกใต้ ซึ่งผมเคยเขียนบล็อกไว้ที่บันทึก 20 ไมล์ • สม่ำเสมอ

Amundsen & Scott

สองนักผจญภัย ได้พาทีมของตน ออกเดินทางพิชิตขั้วโลกใต้ – ดินแดนที่ยังไม่เคยมีใครไปถึง – ด้วยยุทธวิธีที่แตกต่างกัน

ทีมอะมุนด์เซน – เดินทางทุกวัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

แนวทางคือ เดินทาง 20 ไมล์ในทุกวัน ไม่ว่าสภาพดินฟ้าอากาศจะเป็นอย่างไร แม้วันอากาศดี สามารถเดินทางได้ไกลกว่า 20 ไมล์ ก็เลือกที่จะหยุดพัก เพื่อเก็บแรงไว้ในวันต่อๆ ไป

ทีมสก็อตต์ – ลุยเต็มที่ พักเต็มที่

แนวทางคือ ในวันที่อากาศดี เดินทางไปให้ไกลที่สุด, ในวันที่เลวร้าย พักและเก็บแรงไว้ก่อน เพื่อรอออกเดินทางในวันที่ฟ้าเปิดอีกครั้ง

ผลลัพธ์?

ทีมของอะมุนด์เซน ที่เน้นความสม่ำเสมอ – ไปถึงขั้วโลกใต้ก่อนและกลับมาอย่างปลอดภัยส่วนทีมของสก็อตต์ ที่เน้นลุยเต็มที่ – ตายกลางทาง ระหว่างเดินทางกลับบ้าน

เพราะความสุขและพลังงานชีวิต จะเกิดเมื่อเรากำลังเดินทางเข้าใกล้เป้าหมายไปเรื่อยๆ หากจมอยู่กับการไม่พัฒนานานๆ เราจะหมดพลังในที่สุด

วัดผลแบบไหนดี? KPI หรือ OKR?

ธรรมะข้อ “วิมังสา” กล่าวแค่คอนเซ็ป ไม่ได้ระบุเทคนิคที่ใช้ ทำให้เรานึกถืง KPI กันก่อนเป็นหลัก เพราะเป็นเครื่องมือวัดผลที่มีมายาวนาน

KPI (Key Performance Indicator)

หลักการของ KPI ก็คือ สร้างตัวชี้วัดขึ้นมา แล้วประเมินผลตามตัวชี้วัดเหล่านั้นเป็นระยะ เช่น เวลาเข้าออกงาน ยอดขาย เกรดเฉลี่ย เวลาในการออกกำลังกาย ฯลฯ ซึ่งโดยหลักการนั้นดีมาก แต่กลายเป็นคนหลายกลุ่มตั้ง KPI อย่างไม่เข้าใจ คนที่ไม่ได้ทำงานจริง ไปตั้ง KPI ให้คนหน้างาน แล้วก็พยายามวัดผลจากประเด็นเหล่านั้น เช่น ต้องอยู่ออฟฟิศดึกๆ ทำเอกสารเยอะๆ โทรหาลูกค้าเยอะๆ สร้างยอดขายเยอะๆ

ดังนั้นเมื่อคนหน้างานมีโอกาสสร้าง KPI เอง ก็เลยกลายเป็นสร้าง KPI น้อยๆ ให้ทำตามได้ง่ายๆ พอประเมินจะได้ผ่านทุกเป้าหมาย ได้ผลงานยอดเยี่ยม

โดยอาจจะลืมตั้งคำถามว่า KPI เหล่านี้ได้สะท้อนคุณค่าจริงๆ ของชีวิต การงาน หรือบริษัทหรือเปล่า?

OKR (Objective and Key Results)

Andy Grove แห่ง Intel ได้สร้างแนวคิดใหม่ และเขียนไว้ในหนังสือ High Output Management เมื่อปี 1983 แต่มาดังในช่วงนี้เพราะบริษัท Google และบริษัทไอทีหลายแห่งนำมาใช้แล้วประสบความสำเร็จอย่างมาก

สิ่งที่ OKR ต่างจาก KPI อธิบายแบบง่ายๆ ด้วยภาษาของผมก็คือ

ถ้าคุณทำตาม KPI ได้ทั้งหมด แปลว่าคุณห่วยห่วยเพราะคุณไม่ท้าทายตัวเอง คุณตั้งเป้าหมายต่ำเกินไป กลัวความผิดพลาดมากเกินไป

เม่นเอง

แต่รายละเอียดปลีกย่อยก็มีอีกหลายจุด และมีหนังสือหลายเล่มอธิบายไว้ เช่น

  • ควรประเมินผลทุก 3 เดือน (ปณิธานปีใหม่ที่มันล้มเหลว เพราะประเมินผลรายปี นานเกินไป)
  • เป้าหมายต้องยืดหยุ่น ปรับใหม่ได้ เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ได้
  • อย่าตั้งเยอะ ควรตั้งข้อหลัก 3-5 ข้อ แล้วค่อยใส่ข้อย่อยไป
  • ตั้งเป้าหมายด้วยตัวเองให้สอดคล้องกัน ตั้งแต่เรื่องส่วนตัว ระดับบริษัท ระดับภูมิภาค จะทำให้เกิดความเป็นทีม และไม่คิดแทนลูกน้องมากเกิน
  • การทำตามเป้าหมายได้ 70% เป็นเรื่องที่ดี ถ้าทำได้ 100% แปลว่าตั้งเป้าหมายต่ำไป
  • เป้าหมายต่างๆ มีเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา ไม่ใช่มีเพื่อรับรางวัล

มงคลชีวิต

พอคุยเรื่อง Productivity ก็เลยคุยกันทั้งการเตรียมตัวในแง่ร่างกาย (ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ) และจิตใจ (เทคนิคจัดลำดับความสำคัญต่างๆ) ซึ่งทำให้ผมนึกถึงมงคลชีวิต 38 ประการของพระพุทธเจ้า ที่ Disrupt ความเชื่อยุคนั้นว่า มงคลนั้นไม่ได้อยู่ที่วัตถุสิ่งของ แต่อยู่ที่การกระทำ

ซึ่งหัวข้อต่างๆ นั้น มีการจัดลำดับความสำคัญมาให้แล้วตั้งแต่ข้อ 1 – 38 แต่ผมคิดว่าเริ่มต้น 4 ข้อแรกนี้ก่อนก็น่าจะเหมาะกับทุกคน

1. หลีกหนีอินพุตลบ – ไม่คบคนพาล

เราไม่ควรไปข้องเกี่ยวกับคนที่สร้างปัญหาทั้งหลาย ระบบแย่ๆ สังคมแย่ๆ แต่ถ้าหากจำเป็นต้องเกี่ยวข้อง ก็เลือกเกี่ยวข้องเฉพาะด้านที่ดีของเค้า เพราะแต่ละคนนั้น ก็มีทั้งด้านที่ดีและด้านไม่ดี

2. อยู่ในกลุ่มพลังงานบวก – คบบัณฑิต

พาตัวเองไปอยู่ใกล้คนที่มีความคิดอ่าน มีเหตุผล มีการพัฒนาตนเอง

3. หาไอดอล – บูชาบุคคลที่ควรบูชา

เมื่อมีบุคคลที่เรานับถือ เราจะหาทางแก้ปัญหาต่างๆ ได้ง่าย บางครั้งแค่คิดว่า ในสถานการณ์นี้ คนนั้นจะทำอย่างไร แนะนำอย่างไร การกระทำบางอย่าง ถ้าอาจารย์รู้จะตำหนิหรือเปล่า ฯลฯ ทำให้เราเดินไปในร่องรอยที่ถูกต้องได้ง่าย

4. สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี – อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม

ถ้าเราสร้างห้องให้เหมาะกับการทำงาน (แยกส่วนทำงานกับพักผ่อนออกจากกัน) จัดตู้เย็นให้มีแต่อาหารที่มีประโยชน์ อยู่ในที่อากาศดี เครื่องมือในการทำงานเหมาะสม (เช่น เน็ตแรง 555) ค่าครองชีพไม่สูงเกินไป ไปออกกำลังกายได้ง่าย ฯลฯ ก็จะทำให้เรามีพลังในการทำงานได้มาก

ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ผมย้ายออกจากกรุงเทพฯ และมาอยู่ที่ปายตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้ว

สรุป

Productivity นั้นกล่าวถึงคุณค่าที่มากกว่าตัวเลขเชิงปริมาณ พระพุทธเจ้าได้ออกแบบเฟรมเวิร์คที่ชื่ออิทธิบาท 4 ไว้ให้แล้ว และจัดลำดับความสำคัญสิ่งที่ต้องทำก่อนหลัง ไว้ในมงคลชีวิตแล้ว

เหลือแค่เราลงมือทำ และนำไปพัฒนาอยู่เสมอ

แล้วจะได้ชีวิตที่มีพลัง (อิทธิ) และมีชีวิตที่เป็นมงคล