ระบบสถิติที่ไม่ขโมยข้อมูลผู้ใช้

สรุปวันที่ 2 มิ.ย. 65: หากต้องการเก็บสถิติผู้ชมแบบไม่ต้องมีแบนเนอร์ขอข้อมูลส่วนตัว รองรับกฏหมาย PDPA ได้ ผมแนะนำให้ลองใช้

1. ปลั๊กอิน Koko Analytics สำหรับ WordPress เหมาะกับเว็บที่คนเข้าไม่เยอะมาก (น่าจะซักเดือนละหมื่น)

2. บริการของ Plausible ที่เสียเงิน หรือโหลดมาใช้เองได้ฟรี (แต่เสียค่า Server) ซึ่งบริษัทผมประทับใจมากจนนำมาติดตั้ง Server เพื่อบริการลูกค้า แทน Google Analytics

เริ่มต้นจาก PDPA หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กำลังจะบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 2565 นี้ ทำให้หลายเว็บ พยายามสร้างกล่องแสดงข้อความแจ้งเตือน (Lightbox Consent) ว่า เว็บมีการเก็บข้อมูลและติดตามการใช้งาน และ อาจแสดงหน้าปรับแต่งให้ผู้ใช้เลือกเพิ่มอีกว่าจะให้ติดตามในประเด็นไหนได้บ้าง

ซึ่งผมว่ามันทำให้เว็บ ใช้งานยาก รก โหลดช้า และ คนที่ได้ข้อมูลเหล่านี้ไป ก็เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Facebook ที่นำข้อมูลส่วนตัวจำนวนมากไปหาประโยชน์อีกต่อ

ทำให้เริ่มหาตัวเลือก และเจอว่า มันมีระบบสถิติที่เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้เยี่ยมชมอยู่ด้วย และถ้าเราใช้การเก็บสถิติแบบนี้ เราก็ไม่จำเป็นต้องมี Popup / Lighbox มาให้ผู้ใช้กดยินยอม เว็บก็จะยิ่งใช้งานได้ง่าย

Privacy Friendly Analytics

ผมลองไล่หาและเปรียบเทียบดู เจอทั้งที่ฟรีและเสียตังค์ เลยทวีตไว้ด้านล่าง

ก่อนจะมาเจอว่า บทความ War Of Privacy Friendly Analytics กล่าวที่มาที่ไป รวมถึงยกตัวอย่างบริการ 3 แห่งได้น่าสนใจมาก ทั้ง Plausible Analytics, Fathom Analytics และ Simple Analytics

จุดเด่นของระบบสถิติที่คำนึงถึงความเป็นส่วนตัว

จุดเด่นร่วมกันของทั้ง 3 เว็บคือ

  1. เคารพความเป็นส่วนตัว แต่ยังเก็บสถิติได้ละเอียด ให้เราเห็นภาพว่ามีคนเข้าแต่ละหน้าเท่าไหร่บ้าง
  2. ไม่ต้องติดข้อความแจ้งเตือนรกๆ เพราะไม่ขโมยข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้
  3. ส่งเมลสรุปสถิติรายเดือนได้ แยกแต่ละเว็บแต่ละเมลได้ (เหมาะกับส่งเมลสรุปให้ลูกค้าอีกต่อ)
  4. นำไปใช้กี่เว็บก็ได้ ระบบจะคิดเงินตามยอดวิวของทุกเว็บรวมกัน

โดยจุดเด่นของแต่ละเว็บ คือ

1. Plausible Analytics

Plausible Analytics นั้น ใช้ JS Script ขนาดเล็กที่สุด (< 1 KB) เชื่อม Google Search Console ได้ ทำมาหลังสุด ราคาถูกสุด เป็น Open Source ด้วย นั่นคือ หากต้องการไปทำระบบเอง ก็เอาโค้ดมาติดตั้งเองได้เลย

2. Fathom Analytics

Fathom Analytics ทำสวย ทำมาก่อนใคร เช็คเว็บล่มได้ และ มีแมวด้วย! ทำเว็บดีมาก อ่านแล้วอยากจ่ายเงินมาก แต่ว่าแพงกว่าคนอื่นแฮะ

3. Simple Analytics

Simple Analytics วีดีโอฮาดี บอกว่า เมื่อโลกจริงเราไม่อยากให้ใครมาตามติดในทุกๆ ที่ โลกออนไลน์ก็ควรเป็นเช่นกัน เก็บสถิติทวีตได้ดีมาก

ย้ายออกจาก Google Analytics

เนื่องจากที่ผ่านมา การทำโปรเจ็ค SeedThemes.com / SeedWebs.com หรือบล็อก Menn.Blog แห่งนี้ ผมเองไม่ได้ใช้เวลาไปกับการเช็คสถิติหรือทำการตลาดเท่าไหร่ ยิ่งแคมเปญต่างๆ ใน Facebook Page หรือลงโฆษณากับ Google เคยลองแค่ให้พอรู้จัก แล้วก็ไม่ได้ทำกับเว็บตัวเองเลย

เลยตัดสินใจว่า งั้นลองเลิกใช้ Google Analytics ดูดีกว่า ลดการเอาข้อมูลผู้ใช้ไปป้อนให้บริษัทเหล่านี้ด้วย ส่วนระบบ Comment ในบล็อก เดี๋ยวหาตัวอื่นอีกทีฮะ

ไปใช้ Plausible และโหลดเร็วสุดๆ

ทำให้ได้ลองสมัคร Plausible แล้วตั้งค่าต่างๆ ดู ผลพลอยได้อีกอย่างก็คือ เมื่อไม่ต้องโหลด Google Analytics อ้วนๆ แล้ว เว็บก็เลยโหลดเร็วมาก คะแนน Page Speed ของ SeedWebs.com สามารถทำได้ 100/100 ทั้งในส่วน Mobile และ Desktop เลย

โครงสร้างเว็บ Seed Webs

  1. ใช้ธีม Plant จาก SeedThemes ที่เน้นให้โหลดเร็วอยู่แล้ว
  2. ใช้ปลั๊กอิน GenerateBlocks ในการจัดหน้า เลิกใช้ Page Builder อ้วนๆ ทั้งหลาย (มี ไลฟ์สอน นาทีที่ 12:20 เป็นต้นไป)
  3. เตรียมรูปให้มีขนาดพอดี หากขยันก็ใช้ ImageOptim ลดขนาดรูปก่อน ถ้าขี้เกียจก็ใช้ปลั๊กอิน ShortPixel ช่วยปรับรูปให้ตอนเขียนบทความไปเลย
  4. ใช้ปลั๊กอิน Autoptimize ช่วยบีบอัด CSS / JS และสร้างไฟล์แคช
  5. จริงๆ 1-4 ก็ได้คะแนน 100 ได้แล้ว แต่เว็บนี้มีระบบ E-Commerce ยังใช้ jQuery อยู่ เลยลงปลั๊กอิน perfmatters เพื่อปิด jQuery และปลั๊กอินในหน้าที่ไม่ใช้ออกไป เลยได้คะแนน 100 เต็มได้ หน้าที่ใช้ jQuery ก็จะเหลือ 97-99

สรุป

แนวโน้มของเว็บและแอป คือความเป็นส่วนตัว โดยมีกฏหมายต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้คนปลอดภัยจากการโดนขโมยข้อมูลส่วนตัวไปใช้

การสร้างเว็บไซต์ที่ดี จึงกลับมาสู่จุดเริ่มต้นว่า ให้สร้างเนื้อหาที่ดี จนผู้ใช้อยากจะให้ข้อมูลเอง ทั้งสมัครสมาชิก หรือซื้อสินค้าบริการต่างๆ

การแอบเก็บข้อมูลผู้ใช้ จะยิ่งทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ และอาจไม่เกิดประโยชน์เท่ากับการสร้างเนื้อหาที่ดี สร้างสินค้าและบริการที่ดี

หมายเหตุการเขียนบล็อก

ที่ผ่านมา เขียนบันทึกกระจายไว้หลายที่ ทั้งบล็อกส่วนตัว สเตตัสเฟสบุ๊ก และเว็บบริษัท ต่อไปจะพยายามรวบรวมไว้ที่บล็อกแห่งนี้เป็นหลักนะครับ ดังนั้น ต่อไปบล็อกนี้น่าจะมีบันทึกเชิงเทคนิคเพิ่มมากขึ้นด้วยอีกทางครับ