ย้ายไปชนบทกันเถอะ

มีน้องชวนเข้ากลุ่ม ย้ายประเทศกันเถอะ เพื่อไปอัปเดตข่าวสารความไม่พอใจและความสิ้นหวังของคนไทยจำนวนมาก ต่อระบบที่เค้าไม่สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไข

เข้าใจและเห็นใจ เพราะแม่ของผมก็ย้ายไปอยู่ที่อเมริกาตั้งแต่ผมยังเรียนมัธยม ใช้ชีวิตและเกษียณที่นั่น ไม่อยากกลับไทยเท่าไหร่

แต่ตอนที่ผมไปเรียนต่อและไปเยี่ยมแม่อยู่ราวๆ 1 ปี ก็ไม่ได้รู้สึกอยากย้ายประเทศไปนัก

ส่วนหนึ่ง อาจจะเพราะมีโอกาสกลับมาเปิดบริษัทที่เมืองไทย ได้ทำงานหลายอย่าง กำลังสนุก

อีกส่วนคือ เวลาได้ไปหาพระอาจารย์สาครที่ทองผาภูมิรู้สึกว่าได้รับพลัง และเมื่อรู้จักหลวงพ่อปราโมทย์ ก็ยิ่งรู้สึกว่าต่อให้ต้องแลกกับความเลวร้ายต่างๆ ของประเทศ หากได้อยู่ไม่ไกลจากครูบาอาจารย์ ได้ปฏิบัติภาวนา ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว

แต่กระนั้น เมื่อ 12  ปีที่แล้ว ผมก็วางแผนย้ายออกจากกรุงเทพฯ และพยายามหาว่า จะไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่ไหนดี?

ชาติ กอบจิตติ ทิ้งชีวิตสำมะเลเทเมา แล้วไปอาศัยในไร่อันห่างไกลที่เขาใหญ่, กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เลือกที่จะอยู่และทำงานใน “หุบเขาฝนโปรยไพร” ที่ห่างไกลผู้คน, ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ สร้าง “สวนทูนอิน” ขึ้นมาจากพื้นที่ในป่า ที่ตามหามาทั้งชีวิตส่วนผมล่ะ? ผมเองก็กำลังตามหาสวนทูนอินของผมอยู่เช่นกัน

(จากบันทึก ตามหาสวนทูนอินของข้าพเจ้า)

ต้องการอะไร?

12 ปีที่แล้ว ผมสรุปว่า สิ่งที่ต้องการในปลายทางคือ

  1. อากาศดี
  2. มีต้นไม้เยอะ
  3. มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
  4. สามารถเดินทางมากรุงเทพได้ภายใน 1 วัน
  5. ค่าครองชีพไม่สูงนัก

โดยได้ข้อสรุปความไม่พอใจด้านการเมืองการปกครองไปก่อนหน้าแล้วว่า เราควรต้องรักษาขนาดธุรกิจให้เล็ก (ไม่วุ่นวาย) ยุ่งกับรัฐให้น้อย (ไม่ต้องเหนื่อยกับพิธีรีตองและความไม่โปร่งใส) บริจาคลดหย่อนให้เยอะ (ให้ชุมชน/สนับสนุนโรงพยาบาล) และถ้าเราเสียภาษีน้อยลง ก็มีส่วนทำให้รัฐมีขนาดเล็กลง อาจทำให้คอรัปชั่นน้อยลงได้ – บันทึกไว้ใน วิถีแห่งเจ้าสำนัก

ผมตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ถ้าลดเงินเดือนตัวเองครึ่งนึงแลกกับการไม่อยู่ในกรุงเทพฯ เรายอมหรือเปล่า? ถ้าได้คำตอบว่ายอม ก็แปลว่าควรต้องย้ายจริงๆ

จะไปที่ไหน?

สำหรับคนชอบธรรมชาติ ก็คงต้องเลือกก่อนว่า จะอยู่ภูเขา หรือ ทะเล ผมลองไปนั่งทำงานที่เกาะ ที่ริมทะเล รวมๆ อยู่หลายเดือน พบว่าอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ไม่เสถียร และอากาศริมทะเลนั้นมาพร้อมไอเกลือที่ทำให้เหนียวตัว

ไปเที่ยวสนุก แต่อยู่นานๆ กลับไม่ค่อยสะดวก

เลยเล็งเป็นภูเขา ลองไปที่เชียงใหม่ เชียงราย ก็ชอบ ไปพิษณุโลกก็ชอบ แต่ร้อนกว่าภาคเหนือตอนบน

จนได้ไปเป็นครูอาสา ช่วยเนคเทควางหลักสูตรด้านไอที สอนครูและเด็กในแม่ฮ่องสอนอยู่หลายปี เลยพบว่าชอบปายที่สุด อาจจะเจอฝุ่นควันหนักๆ ในฤดูเผาป่าประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็ใช้วิธีย้ายไปที่อื่นชั่วคราวได้

ข้อดีของชนบท

รุ่นพี่สถาปนิกคนหนึ่งที่ย้ายมาอยู่ปาย เค้าบอกว่า เค้าชอบเมืองที่ “หลับตาแล้วนึกผังเมืองได้” ซึ่งชนบทในหลายๆ ที่ก็เป็นเช่นนั้น

ขนาดเล็ก

เมื่อมีขนาดเล็ก ก็ใช้เวลาเดินทางน้อย อย่างบ้านผม ภรรยาจะกลับมาทานข้าวเที่ยงที่บ้านทุกวัน เพราะเดินทางระหว่างบ้านกับที่ทำงาน ใช้เวลาประมาณ 2 นาที (ผมเคยอธิบายให้เพื่อนฟังว่า เวลาขับรถไปส่งภรรยา เพลงในรถจะเล่นได้ไม่จบเพลง)

ค่าครองชีพไม่สูง

เมื่อรายจ่ายน้อย เราสามารถวางแผนให้ชีวิตนิ่งขึ้นได้ ไม่ต้องรีบทำเงิน หมุนเงิน โชว์เงิน ฯลฯ เสียเงินไปกับภาษีสังคมต่างๆ เหมือนคนในเมืองหลวง

ติดต่อสถานที่ต่างๆ ได้ง่าย

ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา ไปรษณีย์ ส่วนราชการ หรือถ้าเป็นชนบทที่เริ่มเจริญหน่อย ก็จะหาบริษัทขนส่ง ร้านสะดวกซื้อ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ได้หลายเจ้า

อาหารสดและปลอดสาร

เมื่อเราไม่มีระบบรัฐที่ช่วยตรวจสอบและรับรอง การมาอยู่ชนบทและพยายามมากพอ จะทำให้เรามาอยู่ในเครือข่ายชาวบ้าน ทั้งกลุ่มเกษตรปลอดสาร และกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อให้สินค้าขายได้

เมื่อรู้จักกัน เค้าก็จะมาแจ้งกันก่อนว่า จะฉีดยาวันไหน ก่อนฉีดเราก็สั่งผัก ผลไม้ต่างๆ หรือรวมไปถึงเนื้อสัตว์ ไข่ ต่างๆ ได้

ไปโรงพยาบาลง่าย

แม้โรงพยาบาลในชนบทจะไม่ทันสมัยเหมือนในเมือง แต่เป็นมิตรและเข้าถึงง่าย ถ้าเจ็บป่วย ก็ช่วยรักษา ไม่ปล่อยให้ตายง่ายๆ ยิ่งถ้าเรามีเงินสำรองไว้มาก เราก็สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลเอกชนได้ง่ายขึ้น

ข้อเสีย?

แต่ข้อเสียโดยรวมของประเทศนี้ คือ การที่เราพึ่งพารัฐไม่ค่อยได้ ทำให้เราต้องพึ่งตัวเองและเส้นสายเครือข่ายเป็นหลัก (ซึ่งก็เกิดเป็นลูปของการเล่นพรรคเล่นพวก คอรัปชั่น เลี่ยงภาษี รัฐก็ไม่พัฒนา ใครเสียภาษีมากก็เสียเปรียบ หาทางเลี่ยงภาษี แล้วก็วนลูปไปเรื่อยๆ) เป็นระบบอุปถัมภ์ขนาดใหญ่ที่ครอบประเทศนี้อยู่ – ก็หาทางแก้กันไป

ส่วนข้อเสียของชนบท รวมๆ น่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่ต้องยอมรับว่าเมืองหลวงได้งบไปเป็นหลักอยู่แล้ว ความเจริญของวัตถุต่างๆ ระบบระเบียบ การบังคับใช้กฏหมาย เลยมาไม่ค่อยถึงชนบท

ซึ่งก็เลยกระทบมาที่การรวมกลุ่ม เป็นสังคมของการนินทา เพื่อกำหนดพฤติกรรมหมู่ เนื่องจากใช้กฏหมายจัดการยาก ก็ต้องใช้การนินทามากำกับ

และบางกลุ่ม ก็โหยหาอำนาจรัฐ เพราะคนที่เข้าถึงได้ จะได้รับความช่วยเหลืออย่างล้นเกิน เปลี่ยนผิดเป็นถูกก็ได้ (ตอนภรรยาแต่งงานกับผม เลยมีชาวบ้านมาพูดประมาณว่า ทำไมหาสามีได้แค่นี้ ทำไมไม่ไปหาทหาร ตำรวจ ฯลฯ)

ตัดสินใจ

แต่เมื่อบวกลบข้อดีข้อเสียต่างๆ แล้ว ผมก็เลือกมาอยู่ปาย ทำงานที่เป็นประโยชน์และมีความสุข เก็บเงินไว้ไม่ให้ลำบาก พึ่งคนอื่นให้น้อย เพื่อไม่ต้องไปอยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ของใคร ไม่ต้องกุมไข่โค้งใคร ช่วยเหลือสังคมเท่าที่ทำได้ และหาเวลาไปเที่ยวต่างจังหวัด (เช่น กรุงเทพฯ) หรือต่างประเทศเป็นครั้งคราว จะได้เรียนรู้ให้ทันโลก

ส่วนผู้อ่านที่อยากจะย้ายถิ่นฐาน ก็คงต้องเก็บข้อมูลหลายๆ ด้าน และเตรียมตัวเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นๆ ครับ เริ่มต้นจากการพัฒนาทักษะ และพัฒนาตัวเอง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเป็นพลเมืองของโลกนี้

ขายของก่อนจบ

ส่วนใครที่ต้องการพัฒนาทักษะด้านไอที ผมคิดว่าเริ่มจากการหัดทำเว็บด้วยเวิร์ดเพรส จะเริ่มง่าย เห็นภาพง่าย แล้วเมื่อต้องการต่อยอดให้ลึกขึ้น ก็มีช่องทางให้ศึกษาจำนวนมาก

ผมเองทำงานให้ลูกค้ามาพอสมควร สอนเด็ก สอนครูอาจารย์ เลยเอาองค์ความรู้ต่างๆ มาใส่ในคอร์สออนไลน์และระบบเว็บพร้อมใช้ ซึ่งตอนนี้กำลังทำคอร์สใหม่หมด ปรับระบบเว็บใหม่หมด เปิดตัวเวอร์ชั่นใหม่วันที่ 11 พฤษภาคมนี้

สนใจลองดูที่  Seed Kit – ชุดคิทสร้างเว็บไซต์ ได้ครับ

ปล. พอพูดเรื่องวิถีชีวิต การเลี้ยงชีพ ธุรกิจ มันหนีไม่พ้นที่จะนำเสนอสินค้าของตัวเองจริงๆ นะฮะ ไทอินโดยสัญชาตญาณ