อนาคตของสื่อและเครื่องมือในการสร้าง

ผมและทีม Seed Webs นั้น พัฒนาเว็บด้วย WordPress มายาวนาน ทำให้เราได้สร้างงานให้ลูกค้าที่เป็นเว็บสื่อ ทั้งแนวเว็บข่าว แมกกาซีน หลายเจ้า

บางสื่อที่ผมเคยทำเว็บให้

The Cloud

เว็บ ReadTheCloud นั้น เริ่มต้นด้วยบรีฟแรกเมื่อหลายปีก่อนว่า “เว็บนี้จะไม่มี Banner โฆษณา เพราะไม่มีคนอยากอ่านโฆษณาหรอก” โดยโมเดลของเค้าคือการอยู่ได้ด้วย Advertorial (บทความที่มีผู้สนับสนุน, โฆษณาแฝง) หรือการลงไปสร้าง Story ให้แบรนด์ ที่เข้ากับแนวทางของเว็บ

เป็นทีมที่มีแนวทางของเรื่องเล่าที่ชัดเจน กล่าวในภาษาผมก็น่าจะประมาณ

ผมเชื่อในประเด็นนี้ และจะเล่าเรื่องแนวนี้ หากเรื่องของคุณมีพลังมาก ผมก็เล่าให้ฟรี แต่ถ้าต้องให้ทีมงานทำการบ้านเยอะ ทำงานให้เยอะ ก็จะมีค่าใช้จ่ายเยอะนะ

The Cloud เป็นสื่อยุคใหม่ ที่ทำรายได้ล่วงหน้าไป 2-3 ปีตั้งแต่ยังไม่ได้เปิดเว็บ

สำนักข่าวไทย, เชียงใหม่นิวส์

ส่วนอีกมุมหนึ่ง ทีมผมเองก็ทำงานให้สื่อที่เน้นรายได้จากแบนเนอร์โฆษณาด้วย ทั้ง สำนักข่าวไทย / ไนน์เอ็นเตอร์เทน / เชียงใหม่นิวส์ หรือเว็บก่อนหน้าที่เคยทำ แต่เปลี่ยนทีมงานและรูปแบบไปแล้ว ก็เช่น เดลินิวส์ / มติชน / สปริงนิวส์

ส่วนใหญ่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์มาก่อน แรกๆ ทำเว็บแค่เป็นรายได้เสริม ไปๆ มาๆ สื่อหลักกระทบหนัก เว็บกำลังจะกลายเป็นสื่อหลักแทน แต่รายได้จากเว็บนั้นเล็กน้อยเกินไป จึงต้องอัดแบนเนอร์โฆษณามาทุกทางเท่าที่จะทำได้ ซึ่งยิ่งแบนเนอร์เยอะ ก็ยิ่งทำให้เว็บช้า ติดอันดับ Google ยาก และคนไม่อยากอ่าน

ในช่วงโควิดนี้ รายได้จากแบนเนอร์โฆษณาหลายเจ้า หายไปราวๆ 70%

The101 / ThaiPublica / TDRI

หรือแบบสุดท้าย สื่อที่ไม่แสวงกำไรนัก อยู่ได้ด้วยงานวิจัย บริการวิชาการ หรือเงินจากส่วนอื่น มาทำสื่อไว้เพื่อหวังจะเป็นตลาดวิชา องค์ความรู้ หรือมหาวิทยาลัยออนไลน์

ที่ผมทำให้ก็มี The101 / ThaiPublica / Thailand Development Research Institute: TDRI

ทั้งหมดนี้ผมใช้ WordPress และรองรับคนเข้าดูตั้งแต่เดือนละไม่กี่หมื่นคน ถึง 10-20 ล้านคน

ซึ่งถ้าเป็นเนื้อหาที่ “อ่านอย่างเดียว” นั้น WordPress ยังพอรองรับได้ แต่ถ้าต้องเริ่มมีระบบสมาชิกด้วย WordPress จะเริ่มดูแลยากขึ้น

อนาคตของสื่อ?

1. Advertorial

จากการทำงานที่ผ่านมา ผมเห็นว่าแนวทาง Advertorial ทำให้สื่อสามารถสร้างรายได้ได้ดีที่สุด จนเกิดเพจ เกิดเว็บรีวิวต่างๆ มากมาย ที่เน้นหารายได้ใส่ไปในเนื้อหา แต่ใครที่รักษาจิตวิญญาณเดิมไม่ได้ ก็จะถูกสปอนเซอร์กลืนกินไปในที่สุด เหมือนที่ยุคนึง นิตยสารดีๆ กลายเป็นแคตาล็อกสินค้าแย่ๆ

2. Subscription

อีกแนวทางนึงคือการรับสมัครสมาชิก ซึ่งเคยได้ผลในยุคสิ่งพิมพ์ แต่พอมายุคดิจิทัล ที่เน้นความเร็ว และก๊อบงานกัน กลายเป็นคนไม่ยอมเสียเงินให้สื่อ

~ แต่ก็เห็นเสียเงินเปย์สาวกันได้นะ ทั้งเว็บ OnlyFans หรือเปย์ผ่าน Bigo Live ~

จนสื่อใหญ่ๆ อย่าง Youtube มาช่วยทำให้เกิดการสมัครสมาชิกช่องรายการได้ ก็เริ่มมีคนสร้างรายได้จากสมาชิกนี้มากขึ้น

3. Ad Banner

ส่วนประเด็นโฆษณาผ่านแบนเนอร์นั้น ถ้ายอดคนเข้าเว็บไม่เยอะมากจริงๆ ก็แทบไม่มีรายได้ และข่าวที่จะทำให้ยอดคนดูเยอะมากๆ ก็มักเป็นข่าวร้าย สาดโคลน ดราม่า ซึ่งทำให้สื่อใหญ่ๆ ลงมาผลิตข่าวแบบนี้กันเต็มไปหมด – แต่แล้วตัวเองก็ยังรายได้ไม่มากพออีก

ผมเลยคิดว่า Ad Banner ไม่ใช่ทางออกที่ดี มันสร้างสังคมแย่ๆ และสื่อแย่ๆ ขึ้นมามากเกินไป

แพลตฟอร์มของสื่อ?

เมื่อมองว่า อนาคตคือ Advertorial และ Subscription ก็จะพบว่า แพลตฟอร์มที่ช่วยให้คนทำสื่อ ทำได้ง่ายขึ้นนั้นมีจำนวนมาก ทั้งสร้างเพจ Facebook, ช่อง Youtube หรือ Social Network อื่นๆ

แต่เมื่อเกิดรายได้ผ่านแพลตฟอร์ม อาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมสูงถึง 30%

ในฐานะคนทำเว็บที่เป็นแพลตฟอร์มหนึ่ง ก็เลยคิดว่า เราควรเป็นเจ้าของข้อมูล ติดต่อสมาชิกได้โดยตรง และเก็บเงินตรง มากกว่าจะไปผูกแบรนด์ของเรากับแพลตฟอร์มอื่นๆ

ทำให้ผมเชียร์สื่อต่างๆ ให้สร้างเว็บ มีตัวตนและความรับผิดชอบ ซึ่งก็มีเครื่องมือที่ช่วยสร้าง เริ่มต้นได้ไม่แพงเลย คือ

1. WordPress

เพราะเวิร์ดเพรสทำได้ตั้งแต่บล็อก ระบบสมาชิก ถึงร้านค้าออนไลน์ และกลายเป็นมาตรฐานการสร้างเว็บ (40% ของเว็บไซต์ทั้งโลกนี้ สร้างด้วย WordPress)

ถ้าเป็นเว็บที่มีสมาชิกหลักหมื่นคน ผมว่าจัดการได้ไม่ยาก ถ้าเป็นเว็บเนื้อหาอย่างเดียว ก็รองรับคนเข้าเดือนละหลายสิบล้านได้

แต่มันต้องมีคนดูแล มีคนคอยอัปเดตปลั๊กอินและระบบต่างๆ ทำให้พอเริ่ม Scale มันจะมีค่าใช้จ่ายตามมา

2. Ghost

อีกเครื่องมือคือ Ghost.org ที่เพิ่งออกเวอร์ชั่นใหม่ เน้นให้สมัครสมาชิกได้ง่าย มีระบบตัดบัตรเครดิตรายเดือนเลย (แต่ผูกกับ Stripe ซึ่งยังไม่รองรับในไทย ทำให้ต้องเขียนระบบเพิ่มอีกหน่อย)

ซึ่งเป็นระบบที่ผมเพิ่งย้ายมาใช้กับเว็บ Menn.Blog แห่งนี้ เพราะโดยเทคโนโลยี (Node.js) มันใหม่และเบากว่า WordPress (PHP) มาก และยังปลอดภัยกว่าด้วย

มีคนเขียนบล็อก Why I chose Ghost: Pros and Cons vs WordPress ว่า Ghost ประสิทธิภาพดีกว่า WordPress 1,900% – แต่ตัวเลขนี้ก็อาจสูงเกินไป หากชำนาญ WordPress จะปรับแต่งประสิทธิภาพมาสู้ได้อยู่

แต่สิ่งที่ผมนับถือ Ghost มากๆ คือ ทิศทางและวิสัยทัศน์ของทีมผู้สร้าง เค้าชัดเจนว่า จะไม่ได้แข่งกับ WordPress ในแง่การต่อยอดได้ทุกอย่าง แต่โฟกัสที่การทำให้ผู้สร้างเนื้อหา สามารถผลิตคอนเท้นต์และสร้างฐานสมาชิกได้ง่าย ก่อให้เกิดรายได้ที่ยั่งยืนได้

เค้าเชื่อในความคิดสร้างสรรค์และองค์ความรู้ของแต่ละคน สรุปแบบไทยๆ น่าจะได้ประมาณว่า

คุณไม่ต้องทำสื่อให้คนเป็นล้านๆ ดูหรอก คุณแค่สร้างเนื้อหาคุณภาพมากพอที่จะมีคนจ่ายเงินพันคน คนละร้อย คุณก็มีรายได้ 1 แสนบาทต่อเดือนแล้ว

ซึ่งพอลองใช้จริงจัง ก็รู้สึกถึงความรื่นรมย์ในการเขียนบล็อก มีตัวเลือกไม่มาก แต่สำคัญ และเพียงพอสำหรับการสร้างเนื้อหาดีๆ

Ghost เป็น Open Source คือมีโค้ดให้โหลดไปติดตั้งได้ฟรี อย่างเว็บ Menn.Blog ก็ใช้วิธีติดตั้งเอง (ผมลองที่ $5 ต่อเดือน ใช้ Amazon Lightsail) หรือจะจ่ายให้ Ghost ดูแลโดยตรงก็ได้ ที่ Ghost(Pro) หรือจะจ้างทีมเค้ามาลงให้ก็ได้ Ghost(Valet)

หรือลองเล่นฟรีผ่าน PLAY-WITH-GHOST หรือเปิดเว็บฟรีโดยยอมให้มีโฆษณาที่ DigitalPress

ยิ่งใช้ยิ่งชอบ และต่อคิวการพัฒนาธีมสำหรับ Ghost ให้กับ SeedThemes เลย และถ้าสร้าง Solution ได้ครบ ก็คิดว่าจะนำมาเสนอเป็นอีกแพ็กเกจให้กับ Seed Webs ด้วยฮะ

ระบบสมาชิกของ Ghost

Ghost มีข้อจำกัดว่า สมาชิกต้องมีอีเมล – ไม่มี Social Login โดยให้เหตุผลว่า

โซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น มาแล้วก็ไปตามยุคสมัย แต่อีเมลนั้นอยู่ถาวร นอกจากนั้น เราสามารถสื่อสารโดยตรงกับสมาชิกผ่านอีเมลได้ด้วย

โดย Ghost เพิ่มระบบความปลอดภัยคือ สมาชิกจะไม่มีรหัสผ่าน กรอกเมลแล้วคลิกลิงก์เพื่อเข้าเว็บเท่านั้น ทำให้ไม่ต้องกลัวโดยแฮคโดยการเดารหัส เพราะมันไม่มีทาง จะแฮคต้องไปแฮคอีเมลแทน

ราคาการสร้างเว็บสื่อขนาดใหญ่ที่ผมรับทำอยู่

ผมมองว่า เวลาลูกค้าจ่ายค่า Hosting อย่างเดียว ปัญหาของเค้ายังไม่จบ เพราะ WordPress ต้องมีคนช่วยอัปเดตปลั๊กอิน เช็คเรื่องความปลอดภัย คอยแก้ปัญหาเวลาโดนยิง ฯลฯ

ทำให้ผมรวมราคาทั้งค่า Server ของ AWS, ค่าดูแล สำรองข้อมูลรายวัน อัปเดตระบบ Server ให้ทุกคืน อัปเดตปลั๊กอิน ค่าลิขสิทธิปลั๊กอิน และแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งหมด ให้เว็บสามารถใช้งานได้

  • หากคนดูหลักแสนต่อเดือน ผมคิดอยู่ประมาณ 4-6 พันบาท
  • หากคนดูหลัก 1-2 ล้านต่อเดือน ผมคิดอยู่ประมาณ 1-2 หมื่นบาท
  • หากคนดูหลัก 10-20 ล้านต่อเดือน ผมคิดอยู่ประมาณ 3-5 หมื่นบาท

ทั้งหมดเป็นราคารายเดือน ซึ่งที่ทำอยู่ ผมคิดว่าไม่ได้กำไรมากนัก – และไม่รับลูกค้าที่ไม่ได้ทำเว็บกับผมด้วย เนื่องจากถ้าขึ้นโครงเว็บมาไม่ดี มันจะดูแลยากมาก

เน้นให้ลูกค้าสามารถอยู่ได้และสร้างงานได้ต่อเนื่อง และหลายคนจ้างเจ้าอื่นแล้วมีปัญหา เลยให้ผมแก้ไขและดูแลระยะยาวให้

จะเห็นว่าตัวเลขนี้ เมื่อเทียบกับ Ghost จะพบว่า ใช้ Ghost แบบให้ฝรั่งดูแลให้ยังถูกกว่า แม้ฟีเจอร์จะน้อยกว่า แต่ก็เพียงพอในหลายๆ ด้านเหมือนกัน 🙂

เพิ่มเติม: คนที่สนใจธุรกิจทำเว็บ แนะนำให้ลองดูแพ็กเกจของ Pronto Marketing อีกทางครับ เป็นบริษัทฝรั่งที่ตั้งในไทย ทำดีมาก แต่รับเฉพาะลูกค้าฝรั่งเป็นหลัก 🙂