เงินหรือชีวิต – หนังสือที่เปลี่ยนแปลงเราไปตลอดกาล

อันที่จริง ก็อยากเขียนแนะนำหนังสือวรรณกรรมลึกๆ เท่ๆ แบบ บทสัมภาษณ์ของท่านจ๋ง บ้าง แต่เมื่อพบว่าหนังสือที่เปลี่ยนแปลงชีวิตในแต่ละช่วงของผมนั้นมีแต่หนังสือฮาวทู ก็ยอมจำนนโดยดีว่า งั้นแนะนำหนังสือฮาวทูก็ได้ (ฟระ)

มีคนไปขุดบล็อกเก่าของผมที่เคยบันทึกว่า

หากเราทำงานได้เงิน นำเงินไปซื้อความสุข เราจะเสีย “ค่าธรรมเนียม” บางอย่าง เช่น ภาษี, ความรอบคอบในการตัดสินใจซื้อความสุข (…ซื้อหน่อยน่า ทำงานหนักมาทั้งเดือนนะ!…) ฯลฯ ผมจึงพยายามออกแบบชีวิตด้วยเงื่อนไขแรกว่า ต้องได้ทำงานแล้วมีความสุขก่อน

บันทึก วิถีแห่งเจ้าสำนัก

เลยทำให้ไปตอบว่า แนวคิดนี้ หนังสือที่อธิบายได้ดีมาก ชื่อว่า “เงินหรือชีวิต – Your Money or Your Life” จึงมีมิตรสหายมาทักว่า ปัจจุบันสำนักพิมพ์ Openbooks เพิ่งไปซื้อลิขสิทธิ์ฉบับปรับปรุงใหม่มา

ผมเลยตัดสินใจเขียนถึงดีกว่า ขอหยิบบทความที่เคยเขียนไว้แต่ไม่ได้ตีพิมพ์มาใส่ในบล็อกละกันครับ

เงินคืออะไร?

หนังสืออธิบายได้ดีมากว่า

เงินคือสิ่งที่ใช้พลังชีวิตไปแลกมา

หนังสือเริ่มต้นโดยให้เราปิดงบดุลตัวเอง ว่าทั้งชีวิตที่ผ่านมา เราสร้างรายได้ได้ทั้งหมดเท่าไหร่กันแน่ และเหลือสินทรัพย์เท่าไหร่กันแน่ พลังชีวิตของเราหายไปเพื่อแปลงเป็นเงิน แล้วเราก็ใช้เงินเพื่อแปลงกลับมาเป็นพลังชีวิตอีกครั้ง รวมแล้วมันแค่ไหน คุ้มมั้ย?

เช่น คนเงินเดือน 3 หมื่น มีเงินเก็บเดือนละ 5 พันและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจริงๆ ไม่เกี่ยวกับงาน 5 พัน แปลว่ารายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยหรือพ่วงมากับงาน คือ 2 หมื่น (ค่ารถ, ค่าที่พัก, ค่าแต่งตัว ฯลฯ ซึ่งใครๆ ก็ต้องจ่ายกัน)เหลือรายได้จริงๆ เดือนละหมื่น คิดเป็นค่าแรงวันละ 450 บาทแปลว่า ถ้าเราจะจ่ายเงิน 450 บาท เรากำลังจะเอาพลังชีวิต 1 วันของเราไปใช้แล้วเงินจำนวนเท่านี้ หากเราจ่ายไปแล้ว เราได้พลังชีวิตกลับมา 1 วันจริงหรือเปล่า?

เมื่อเวลาผ่านไป ปิดงบไปเรื่อยๆ เราจะพบว่า ทุกครั้งที่เราเอาความสุข/พลังชีวิตไปแลกเงิน แล้วเอาเงินกลับไปซื้อความสุข/พลังชีวิตคืนมา เราจะสูญเสียบางส่วนไป เทียบแล้วมันไม่คุ้มเลยกับถ้าหากเราทำในสิ่งที่ได้รับความสุข/พลังชีวิตโดยตรง แต่ได้เงินน้อยกว่า

และระหว่างทางของการปิดงบ เราจะเริ่มพบว่า อะไรคือ “รายจ่ายที่ไม่คุ้มค่า” บางคนอาจจะเจอว่าเป็นรายจ่ายที่พ่วงมากับงาน, รายจ่ายที่พ่วงมากับเพื่อน / ครอบครัว / การเข้าสังคม หรือบางที รายจ่ายนั้นเกิดขึ้นเพราะเราไม่มี “เวลาที่เหมาะสม” หรือ “อยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสม” เราเลยต้องแย่งกันกิน, แย่งกันเดินทาง, แย่งกันเที่ยว, แย่งกันพักผ่อน ฯลฯ ทั้งๆ ที่หากปรับเวลาหรือสถานที่ใหม่ ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

เมื่อรู้ว่า รายได้มาทางไหน รายจ่ายไปทางไหน อันไหนคุ้ม อันไหนไม่คุ้ม เราจะเริ่มคิดว่า เราจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรซักอย่างแล้ว

คนหนุ่มสาวในเมือง เงินเดือน 2-3 หมื่น แม่งใช้ชีวิตแพงชิบหาย

‘รงค์ วงษ์สวรรค์

เราต้องการวิถีชีวิตแบบไหน?

การหนีจากสิ่งที่ไม่ชอบนั้นง่าย แต่การหาสิ่งที่ใช่นั้นยาก เราต้องค่อยๆ หาไปว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข/มีพลังชีวิตได้มาก แต่เสียค่าใช้จ่ายน้อย อาชีพแบบไหนที่ทำแล้วได้เงินคุ้มกับพลังชีวิตที่เสียไป บางครั้งเราอาจจะพบว่า เราเลือกสิ่งที่ได้รายได้น้อยลงก็ได้ ถ้าโดยรวมทำให้รายจ่ายเราลดลง และเหลือเงินเก็บมากขึ้น (เพราะเราไม่ต้องจ่ายเงินซื้อความสุขมาชดเชย) หรืออาจจะยอมเปลี่ยนไปทำงานที่ไม่ค่อยชอบแต่รายได้สูง และมีเวลาทำสิ่งที่ชอบเป็นงานอดิเรกหรืองานอาสาสมัครแทน ก็ได้เช่นกัน

ซึ่งทั้งหมดนั้น เราต้องค่อยๆ บันทึกและค้นหาตัวเอง คิดทุกความเป็นไปได้ ทั้งอาชีพเดิม / อาชีพใหม่, ที่อยู่เดิม / ที่อยู่ใหม่, ที่ทำงานเดิม / ที่ทำงานใหม่, หรือปัจจัยอื่นๆ ที่เรามองเห็นจากการใช้จ่ายของเรา

เงินแค่ไหนที่เพียงพอกับวิถีชีวิตของเรา?

เมื่อได้วิถีชีวิตแล้ว ความรู้อีกส่วนหนึ่งก็คือ

  • เงินนั้นจำเป็นสำหรับชีวิต หากมีน้อยเกินไปเราจะลำบาก
  • หากมีพอสมควร เราจะสบายขึ้น
  • หากมีเงินถึงขั้นหรูหรา แต่ยังไม่หยุด ไม่พอ รายได้ที่มากขึ้นนั้น จะไม่ได้ทำให้ความสุขเรามากขึ้นเท่าไหร่แล้ว หลายครั้ง รายได้ที่มากไปจะสร้างพันธะที่ไม่อาจปฏิเสธ ทั้งการทำงานที่ทำให้เราไม่เคารพตัวเอง หรือความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างที่แย่ลง

แต่กระนั้น จุดที่ “พอ” ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เราต้องหาให้เจอว่า ในแต่ละช่วงขณะของเรา ต้องการรายได้เท่าไหร่กันแน่ ที่เหมาะสมกับ “วิถีชีวิต” ที่เราเลือก และใช้​ “พลังชีวิต” ไปอย่างคุ้มค่า

ค่อยๆ หา ค่อยๆ ปรับ อาจใช้เวลานับเดือน นับปี แต่เมื่อถืงวันที่วิถีชีวิตเราเปลี่ยนไปจริงๆ เราจะหาเส้นทางที่มีอิสระได้ในที่สุด มีรายได้รายจ่ายที่เหมาะสม, มีเวลาที่เพียงพอ, และมีพลังชีวิตเต็มเปี่ยม ที่สามารถสร้างประโยชน์กับตัวเองและคนรอบข้างได้เต็มที่

ประสบการณ์ของผม

เมื่อผมปิดงบดุลตัวเองครั้งแรกๆ สิบกว่าปีก่อน ผมตกใจมากที่รายได้จำนวนมากใช้ไปกับรายจ่ายที่เปล่าประโยชน์ โปรเจ็คหลายตัวที่ทำอยู่ จริงๆ แล้วทั้งขาดทุนและไม่สร้างงานที่มีคุณค่า งานหลายอย่างพยายามจะทำเพื่อสังคมด้วย ธุรกิจด้วย สุดท้ายไม่ตอบโจทย์ซักอย่าง

การรับงานราชการหรืองานองค์กรขนาดใหญ่ ทำให้ผมใช้พลังชีวิตจำนวนมากไปกับการต่อรองมากกว่าการสร้างสรรค์, วิถีชีวิตในเมืองใหญ่ ทำให้ “เวลา” ที่เป็นทรัพยากรที่มีค่ามากของผมหายไปอย่างเปล่าประโยชน์, ความเครียดและความเร่งด่วน ทำให้เสีย “สุขภาพ”, และการ “แย่งกันซื้อความสุข” นั้นสิ้นเปลืองมากในเมืองหลวง

ทำให้ผมค่อยๆ ลดงานประจำลง ลดเงินเดือน ลดความรับผิดชอบ แล้วเปลี่ยนมารับงานฟรีแลนซ์มากขึ้น จนถึงจุดที่เห็นว่า ผมสามารถอยู่ได้ด้วยงานฟรีแลนซ์เพียงอย่างเดียว ผมจึงย้ายมาอาศัยอยู่ที่ปาย เมืองในหุบเขา เพื่อจะมีเวลาที่จะสร้างงานดีๆ ได้ มีเวลาสำหรับการค้นหาความรู้ใหม่ๆ และสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้

จนทำให้เกิดโปรเจ็ค SeedThemes และบริษัทเล็กๆ ในปาย ที่มีเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น และสามารถสร้างประโยชน์ให้คนในวงกว้างได้มากขึ้น โดยใช้พลังชีวิตน้อยกว่าสมัยทำงานที่กรุงเทพฯ

(ขออภัยที่ไทอินโดยสัญชาติญาณ แต่ไหนๆ เขียนบล็อกแล้วก็ขอใส่ลิงก์ซะหน่อยฮะ)

บทส่งท้าย

หนังสือ เงินหรือชีวิต – Your Money or Your Life นี้ ได้ทำให้คนจำนวนมากที่อ่าน เปลี่ยนแปลงชีวิต และค้นหาวิถีที่เหมาะสมกับตนเอง ผมเองก็ได้แต่หวังว่า เมื่อคุณอ่านบทความนี้จบลง คุณจะเริ่มมองหาความคุ้มค่าของพลังชีวิตที่ผ่านมา และลองค้นหาวิถีชีวิตใหม่ของคุณ ที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งกับตนเองและคนรอบข้าง

หากสนใจรายละเอียดหนังสือ ลองดูที่ เพจ Openbooks หรือร้านออนไลน์ Openbooks ได้ครับ